“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้เว็บไซต์การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,064,970,000 บาท รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาเพื่อควบคุมงานก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต วงเงิน 166,790,000 บาท และจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต วงเงิน 20,040,000 บาทแล้ว หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบทบทวนมติ ครม. และปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

จากการสอบถามความคืบหน้าล่าสุดไปยัง รฟท. ได้รับข้อมูลว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่างรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) และราคากลาง คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน จากนั้นประมาณช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 68 จะสามารถเปิดประกวดราคาได้ โดยจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 6-7 เดือน จึงจะได้ผู้ชนะการประกวดราคา โดย รฟท. มีเป้าหมายจะให้เริ่มงานก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2569 (ต.ค.-ธ.ค. 68) ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน หรือ 3 ปี และเปิดให้บริการประมาณเดือน ต.ค. 71 โดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ในปัจจุบัน จะเป็นผู้เดินรถต่อเนื่องจากเส้นทางสายหลักช่วงบางซื่อ-รังสิต

ระหว่างนี้ รฟท. ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเร่งดำเนินงานในส่วนของการขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินก่อสร้างโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มเวนคืนฯ ได้ประมาณปลายปี 2568 โดยโครงการฯ ใช้พื้นที่เวนคืนไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อสร้างสถานี, ทางเข้า-ออกบริเวณสถานี และลานจอดรถ ใช้พื้นที่รวมกว่า 14 ไร่ แบ่งเป็น บริเวณสถานีคลองหนึ่ง พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 33.51 ตารางวา, บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพพื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน 63.11 ตารางวา, บริเวณสถานีเชียงราก พื้นที่ 1 งาน 79.25 ตารางวา และบริเวณสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน 60.02 ตารางวา ทั้งนี้ค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 209.79 ล้านบาท 

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มีระยะทาง 8.84 กม. วงเงินโครงการรวม 6,473.98 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 166.79 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 20.04 ล้านบาท, ค่างานโยธาและระบบราง 4,060.80 ล้านบาท, ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,004.17 ล้านบาท, ค่าเวนคืนที่ดิน 209.79 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน 5 ล้านบาท โดยโครงการนี้ ประเมินว่าเมื่อเปิดให้บริการจะมีปริมาณผู้โดยสาร 22,300 คนต่อวัน และในปีที่ 20 ของการเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 45,000 คนต่อวัน

โครงการดังกล่าว มีแนวเส้นทางต่อเชื่อมมาจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ กม.32+350-41+192 ระยะทาง 8.84 กม. เป็นทางรถไฟระดับดินสร้างใหม่ 2 ทาง อยู่ด้านขวาทางของทางรถไฟปัจจุบัน ซึ่งรถไฟทางไกลจะวิ่งผ่านโดยไม่จอด มีสถานี 4 แห่ง ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง, สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ความกว้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร ทุกสถานีอยู่ที่ระดับพื้นดิน มี 1 ชานชาลาอยู่ตรงกลาง เข้าสู่ชานชาลาด้วยสะพานลอย มีลิฟต์ และบันไดเลื่อนให้บริการ

คาดว่าไม่เกินเดือน มี.ค. 68 กระทรวงคมนาคม จะสามารถเสนอโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ โดยขณะนี้สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ส่งความคิดเห็นกลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว รอเพียงความคิดเห็นจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นขั้นตอนตามปกติก่อนที่จะเสนอเรื่องเข้า ครม.