เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส.(ดินแดง) กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อความร่วมมือทางวิชาการด้านยาเสพติด (พัฒนาเครือข่ายวิชาการด้านยาเสพติด) ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในการพัฒนางานด้านยาเสพติด จำนวน 7 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เพื่อแสดงความร่วมมือทางวิชาการในการป้องกันและแก้แก้ไขปัญหายาเสพติด
‘หม่อง ชิตตู’ ตั้งโต๊ะเปิดใจ ลั่น ‘บีจีเอฟ’ เดินหน้ากวาดล้าง ‘แก๊งคอลฯเมียวดี’

ภายหลังพิธีลงนาม พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงกรณีการออกหมายจับ พล.ต.หม่อง ชิตตู กับพวก ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ ว่า คดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร โดยมีอัยการร่วมสอบสวนกับดีเอสไอ ดังนั้น การที่มีผู้กระทำความผิดเรื่องการค้ามนุษย์กับคนต่างชาติและคนไทย ฉะนั้นคนที่ให้ที่พักพิง หรือคนที่เกี่ยวข้องกับฐานที่ตั้งสถานที่กระทำความผิด ในตัวกฎหมายถือว่ามีความผิดด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ ดีเอสไอประสงค์จะขอออกหมายจับ เพราะมีพยานหลักฐานจากหลายหน่วยยืนยันว่าไปถึงจุดนั้นจริง แต่ถือว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ทำให้ทางอัยการไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย แต่อัยการเห็นด้วย เพียงแต่อัยการอยากให้ได้มีการรวบรวมประเด็นต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้เราไม่ได้ข้อมูลแค่เพียงในส่วนของเมืองไทยอย่างเดียว แต่ยังได้รับจาก EU จากเครือข่ายระหว่างประเทศ รวมถึง FBI ว่ามีหลักฐานมีมูลน่าเชื่อเพียงพอ แต่ก็ต้องรวบรวมให้อัยการได้ดูให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเสนอศาลออกหมายจับ ทั้งนี้ แม้ทาง พล.ต.หม่อง ชิตตู จะมีการออกมาแถลงยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตนขอเรียนว่า เราสามารถรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกทางอยู่แล้ว และเราให้ความเป็นธรรมทุกคน แต่เนื่องจากพยานหลักฐานเดิม ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันว่าสถานที่ที่ไปตั้งเป็นศูนย์ที่จะค้ามนุษย์หรือคอลเซ็นเตอร์ก็ตาม หรือเป็นสถานที่หลอกลวงอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ก็ได้มีพยานยืนยัน แต่ถ้าหากเขาจะหักล้าง ก็ส่งพยานหลักฐานมาได้

“การจะออกหมายจับ พล.ต.หม่อง ชิตตู และพวกได้นั้น ถือเป็นอำนาจของอัยการและศาล แต่ดีเอสไอเห็นควรว่าต้องออกหมายจับ ซึ่งเรื่องหมายจับก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากอัยการซึ่งร่วมสอบสวนด้วย และหมายจับต้องออกโดยศาล ส่วนในวันนี้ ทราบว่าทางอัยการจะได้มีการพูดคุยกับดีเอสไอประมาณ 10 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นในสำนวนที่มีอยู่แล้ว แต่ดีเอสไอต้องไปสกัดประเด็นให้อัยการได้ดูชัดเจน แต่ไม่มีปัญหา เพราะถือเป็นการทำงานร่วมกัน“ พ.ต.อ.ทวี กล่าวชี้แจง.