เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 68 ที่รัฐสภา นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ สส.นครปฐม เขต 4 พรรคประชาชน, นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคประชาชน, นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภัคดี สส.นครสวรรค์ เขต 1 พรรคประชาชน ยื่นหนังสือถึง นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ เรื่องขอความช่วยเหลือชาวนากรณีราคาข้าวเปลือกตกต่ำ 

นายกิตติภณ กล่าวภายหลังยื่นหนังสือว่า จากการลงพื้นที่พบประชาชนชาวนาในหลายจังหวัด อาทิ จ.นครปฐม จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครสวรรค์ และ จ.สระบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองในภาคกลาง และเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวนาปรังที่สำคัญ เกษตรกรในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ในฐานะผู้แทนราษฎร และผู้แทนชาวนา จ.นครปฐม ในพื้นที่ที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 235,142 ไร่ ที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวพันธุ์ กข.41 ราคาปัจจุบันเหลือเพียง 7,000 บาทต่อตัน แต่ในความเป็นจริงชาวนาขายข้าวราคา 6,700-6,800 บาทต่อตัน เท่านั้น 

นายกิตติภณ กล่าวอีกว่า ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ชาวนาจะเริ่มเกี่ยวข้าวช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ราคาต้นทุนการทำนาสูงขึ้นทุกชนิด รวมทั้งค่าเช่าที่นาที่ปรับขึ้นราคาค่าเช่า 2,000-3,000 บาทต่อปี หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ชาวนาจะใช้หนี้หมดได้อย่างไร จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องราคาข้าวและลดต้นทุน ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และที่ดินทำกิน นอกจากนี้ เรื่องปัญหาที่เกิดจากการเผาตอซังข้าวที่ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวดกับเกษตรกรห้ามเผา ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนในการทำนาที่มากขึ้น ชาวนาต้องหาผู้ให้บริการไถเตรียมดินที่พร้อมไถกลบซังตอข้าว เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของเกษตรกร 

นายกิตติภณ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจึงต้องเข้าใจเงื่อนไขของเกษตรกร ช่วยให้ผู้ให้บริการเตรียมการ และให้เงินสนับสนุนกับเกษตรกร ก็จะช่วยลดเงื่อนไขในการเผาได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนและดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่การรณรงค์แบบไฟไหม้ฟาง เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรทุกคน จึงขอนำเรียนประธานคณะ กมธ.เพื่อแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องดังกล่าว

นายศักดินัย กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ขอขอบคุณ สส. ที่เป็นตัวแทนของพี่น้องเกษตรกรในการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาและเร่งหาแนวทางในการแก้ไข ในฐานะประธานคณะ กมธ. เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของชาวนาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ และฝากเรียนไปยังรัฐบาลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าในการแก้ปัญหาชาวนา 

นายศักดินัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ. 2568) คณะ กมธ. จะประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ รวมถึงตัวแทนเกษตรกร เพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนชาวนาต่อไป