เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา นักวิจัยในอินเดียเผยในรายงานว่า พบปลาหายากที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ถึง 3 ครั้งในปี 2567 ในวารสารการวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่

ปลาดังกล่าวคือ ปลาช่อนเชล (Chel snakehead) หรือปลาแชนนา แอมฟิเบียส (Channa amphibeus) ซึ่งไม่เคยมีผู้พบเห็นเลยนับตั้งแต่มีการเก็บตัวอย่างครั้งสุดท้ายระหว่างปี 2461-2476 ในภูมิภาคหิมาลัยของอินเดีย นักวิทยาศาสตร์จึงสรุปว่าปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 85 ปีก่อน ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Zootaxa

แต่ในปี 2567 ข้อสรุปของพวกเขาได้รับการพิสูจน์ว่าผิดไปจากความเป็นจริง

ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างได้ 3 ชุด พร้อมหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันได้ว่า ปลาชนิดนี้ยังไม่ได้สูญพันธุ์ โดยพบปลาช่อนเชลครั้งใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเชล ในเมืองกาลิมปง รัฐเบงกอลตะวันตก หลังจากมีเบาะแสชี้ว่า ปลาชนิดนี้เป็นแหล่งอาหารของชนพื้นเมืองในแถบนั้น 

ผู้ใช้งานอินสตาแกรมชื่อว่า “Forrest Galate” โพสต์ข้อความระบุว่า นักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ต้องเดินทางไปตามป่าดงทั่วอินเดีย เพื่อค้นหาปลาช่อนเชลมาหลายทศวรรษ 

หลังจากการค้นหาอันยากลำบากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในที่สุดพวกเขาก็สามารถพิสูจน์ว่า ปลาช่อนเชลยังไม่ได้สูญพันธุ์ 

ทีมวิจัยพบตัวปลาช่อนเชลในเครือข่ายแม่น้ำเชล ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของปลาชนิดนี้ รายงานระบุว่า ปลาน้ำจืดชนิดนี้ เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีเกล็ดสีเขียวสดใสและแถบลายทางสีเหลือง ซึ่งเป็นลวดลายที่จดจำได้ง่าย

รายงานของมูลนิธิ Thackeray Wildlife ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ตั้งอยู่ในมุมไบ และมีส่วนร่วมในการค้นพบปลาช่อนเชลอีกครั้งอธิบายว่า ปลาช่อนเชลถือว่าเป็นปลาช่อนสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาช่อนทั้งหมด 

“การคลี่คลายปริศนาที่ยาวนานในมีนวิทยา (ศาตร์ว่าด้วยเรื่องปลา) แห่งอินเดียนี้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการสำรวจอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำถึงการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ แม้แต่ในสายพันธุ์ที่เคยคิดว่าสูญหายไปตามกาลเวลา” เตคัส แทคเคอเรย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Thackeray Wildlife เขียนไว้ในโพสต์บนเฟซบุ๊กขององค์กร

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : Facebook / Thackeray Wildlife Foundation