สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาทั้ง 115 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ ในการประชุมเมื่อวันอังคาร รับรองร่างกฎหมาย “ดำเนินคดีกับบุคคลใดก็ตาม” ซึ่งมีแนวคิด “ปฏิเสธหรือยกโทษ” ให้กับความโหดร้ายที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาลเขมรแดง ซึ่งรวมถึง “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม”


ร่างกฎหมายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 7 มาตรา และระบุว่า “ผู้ที่เจตนาปฏิเสธความเจ็บปวดในอดีตถือว่ามีความผิด” และต้องระวางโทษจำคุกระหว่าง 1-5 ปี และบทลงโทษปรับระหว่าง 2,500-125,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 84,202.50-4.21 ล้านบาท)


ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลเขมรแดงปกครองประเทศระหว่างปี 2518 ถึง 2522 มีประชาชนเสียชีวิตร่วม 2 ล้านราย จากการถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานทาส การใช้ความรุนแรงทางเพศ และการฆ่านอกกฎหมายหรือการฆ่าตัดตอน


หลังสิ้นสุดสมัยรัฐบาลเขมรแดง สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดตั้งคณะตุลาการเฉพาะกิจ ชื่อว่า องค์ชุมนุมชำระวิสามัญแห่งกัมพูชา (อีซีซีซี) หรือศาลคดีเขมรแดง เพื่อตัดสินและลงโทษอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนในรัฐบาลเขมรแดง

ปัจจุบัน นายเขียว สัมพัน วัย 93 ปี อดีตประธานสภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา ถือเป็นอดีตสมาชิกรัฐบาลเขมรแดงเพียงคนเดียว ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ และศาลพิพากษาชี้ขาด เมื่อปี 2565 ให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต.

เครดิตภาพ : AFP