นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ประมาณ 4.3-4.4 หมื่นคนต่อวัน ส่วนวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) ประมาณ 2.5-3 หมื่นคนต่อวัน โดยปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากการดำเนินมาตรการรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายในปีแรก ประมาณ 20% ในปี 2568 ตั้งเป้าหมายผู้โดยสารเติบโตจากปี 2567 ประมาณ 23% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สูง เพราะปกติแล้วผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั่วไปจะเติบโตประมาณ 7-10% ต่อปี อย่างไรก็ตามเป้าหมายตามผลการศึกษาผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ที่ 8.6 หมื่นคนต่อวัน

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า รฟฟท. ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มเติมการบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก และเกิดความพึงพอใจสูงสุด โดยเฉพาะการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ แบบไร้รอยต่อ และปลอดภัย ซึ่งล่าสุดได้หารือร่วมกับ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เพื่อเตรียมเปิดทดลองเดินรถรับ-ส่งประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เส้นทาง ซอยแจ้งวัฒนะ 5 (สถานีหลักสี่)–ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ (อาคาร B) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเดินทางมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนทบทวนการศึกษาข้อมูลของที่ปรึกษาของทาง ธพส. ในการนำเสนอเส้นทาง พร้อมสรุปรายละเอียด เพื่อเตรียมความพร้อมของแผนงาน และการกำหนดวัน-เวลาตารางเดินรถ โดยเมื่อเปิดให้บริการทดลองวิ่งจะทำการเก็บข้อมูลจำนวนผู้โดยสาร และสำรวจความพึงพอใจร่วมด้วยต่อไป คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ประมาณเดือน มี.ค.68 เบื้องต้นจุดขึ้น-ลงรถดังกล่าว จะอยู่บริเวณปากซอยแจ้งวัฒนะ 5 ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บริการด้วยการเดินจากสถานีหลักสี่ ใช้ทางออกหมายเลข 1 ระยะทางประมาณ 400 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 6 นาที เพื่อโดยสารรถรับ-ส่งไปยังศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ (อาคาร B)

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ รฟฟท. ยังหารือกับศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ถึงแนวทางการจัดบริการระบบขนส่งเสริม (ฟีดเดอร์) เชื่อมต่อจากสถานีรังสิต (สายสีแดง) ในเส้นทางสถานีรังสิต-ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ฯ โดยเร็วๆ นี้ จะมีการสำรวจพื้นที่ภายในสถานีรังสิตร่วมกัน จากนั้นจะประชุมหารือ และศึกษาข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ของการดำเนินงานสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมต่อในการเดินทาง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน ปัจจุบันสถานีรังสิต มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 7 พันคนต่อวัน จากก่อนหน้านี้ 2-3 พันคนต่อวัน
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดปทุมธานี มีมติเห็นชอบให้ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารเชื่อมต่อสถานีรังสิต (สายสีแดง) แล้ว 4 เส้นทาง ประกอบด้วย สายที่ 1008 รังสิต–อำเภอหนองเสือ ช่วงสถานีรังสิต–มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) มีรถโดยสารให้บริการขั้นต่ำวันละ 20 เที่ยว , สายที่ 1138 ปทุมธานี–ตลาดรังสิต ช่วงสถานีรังสิต–โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส มีรถโดยสารให้บริการขั้นต่ำวันละ 20 เที่ยว และสายที่ 1156 รังสิต–คลองสิบเอ็ด (หมู่บ้านกรีนการ์เด้นโฮม) ช่วงวงกลมสถานีรังสิต–ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และช่วงสถานีรังสิต–คลองเจ็ด มีรถโดยสารให้บริการขั้นต่ำวันละ 40 เที่ยว โดยเส้นทางเดินรถแต่ละช่วงจะมีระบุไว้ด้านหน้า และด้านข้างรถอย่างชัดเจน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การให้บริการเส้นทางดังกล่าว คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกฯ ได้กำหนดให้ใช้รถมินิบัสไฟฟ้ามาเดินรถให้บริการประชาชน ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการอยู่ระหว่างจัดหารถฯ โดยคาดว่าทั้ง 4 เส้นทางจะสามารถเริ่มให้บริการได้ประมาณเดือน มิ.ย.68 อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีรถโดยสารที่เชื่อมต่อสถานีรังสิตแล้ว 4 เส้นทาง ได้แก่ สายที่ 381 รังสิต–อำเภอองครักษ์, สายที่ 1008 รังสิต–อำเภอหนองเสือ, สายที่ 1116 รังสิต–สถานีรถไฟเชียงราก และสายที่ 6188 รังสิต–โรงเรียนจารุศรบำรุง.