เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า ครั้งที่แล้วที่มีการประชุมกัน ได้ให้แต่ละพรรคไปร่างญัตติของตัวเอง เพราะแต่ละพรรคอาจจะอภิปรายรัฐมนตรีแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ซึ่งข้อกล่าวหาและประเด็นที่จะอภิปรายก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งตนได้รับเนื้อหาของแต่ละพรรคเรียบร้อยแล้ว โดยกระบวนการต่อไป พรรคประชาชนในฐานะพรรคแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็จะนำเนื้อหาแต่ละพรรคมารวบรวมกับพรรคประชาชน เพื่อให้เป็นญัตติเดียวกัน เพื่อที่จะลงชื่อร่วมกันอีกครั้ง ฉะนั้น ไทมไลน์ที่จะยื่นต่อประธานสภาได้ คงจะเป็นภายในวันที่ 27 ก.พ. เหมือนเดิม
เมื่อถามว่า จำนวนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายมีกี่คน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เราคงไม่ยื่นทั้งคณะ คงไม่ไหวหากจะอภิปรายรัฐมนตรี 30 กว่าคน คงจะไม่เยอะขนาดนั้น แต่คาดไว้ราวๆ 10 คน แต่ต้องรอดูรายชื่อที่ชัดเจนกว่านี้ เมื่อถามว่า หากมีการอภิปรายพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เกี่ยวกับชั้น 14 อาจจะมีการตั้งวอร์รูมเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นสิทธิของทุกคนที่จะถูกกล่าวหา แล้วจะแถลงข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายหนึ่งจะตั้งข้อสงสัยและข้อกล่าวหา ส่วนใครที่ถูกกล่าวหาและเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องชี้แจง ก็มีสิทธิที่ชี้แจง ไม่ได้มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า ที่เคยมีการแถลงว่าจะขออภิปราย 5 วัน แต่เหมือนทางรัฐบาลจะให้ได้แค่ 3 วัน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “เราเคยเป็นฝ่ายค้านมาด้วยกัน หากจะให้อภิปราย 2 วัน แล้วลงมติอีก 1 วัน หากจะพูดแบบนี้ ก็เหมือนกับคนไม่เคยเป็น สส. และรู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ต้องมากกว่านั้น และทุกครั้งก็เป็น 4 วัน เป็นอย่างน้อย สมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ก็ขอ 7 วัน พอตัวเองเป็นรัฐบาลบอกจะให้พูด 2 วัน ก็ตัดสินกันเองแล้วกัน ว่านี่เป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยคงเป็น 4-5 วัน ตามที่ขอไป”
เมื่อถามว่าหากท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลให้ไม่ถึงตามที่ขอจะทำอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า คงต้องมีการพูดคุยเจรจากัน และคิดว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ประเทศที่ตรวจสอบถ่วงดุลด้วยระบบรัฐสภา เราควรจะเคารพกลไกนี้ คิดว่าคงไม่มีปัญหา นอกจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เชื่อในกลไกตรวจสอบถ่วงดุล หรือพยายามที่จะปิดปากสภาไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาล ตนเชื่อว่าอย่างไรก็จบลงด้วยดี
เมื่อถามว่า หากมีการอ้างเรื่องภารกิจของรัฐบาล เหมือนการมาตอบกระทู้สดจะทำอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดที่แล้ว เขาไม่ติดภารกิจกันหรือ ซึ่งจริงๆ ตนได้ประสานไปล่วงหน้าแล้วว่าเป็นสัปดาห์ไหน หากเคลียร์ไม่ได้ คิดว่าควรไปอ่านประชาธิปไตย 101 ใหม่ ว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เขาถ่วงดุลกันอย่างไร ทุกคนมีประสบการณ์หมดอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยเองก็อวดอ้างตัวเองเสมอ ว่ามีประสบการณ์มาก ก็คงรู้อยู่ว่าสิ่งใดเหมาะสม ไม่เหมาะสม.