เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ มงคลการ สว.กก.2 บก.ปอท. ร่วมแถลงผลทลายเครือข่ายแกงฟอกเงินองค์กรเทา โดยจับกุม น.ส.อัจฉรา (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี และชาวจีน 4 คน พร้อมคนไทยในขบวนการรวมทั้งหมด 10 คน ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันเป็นอั้งยี่ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
โดยผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลอกลวงเหยื่อที่นิยมชอบใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การเช่าที่พัก รวมถึงการหางาน โดยอาศัยรูปแบบการทำงานที่ง่าย อาทิ กดไลก์ กดเพิ่มยอดผู้ติดตาม และได้เงินทันที จึงทำให้เหยื่อหลงเชื่อ สนใจเข้าร่วมงาน เมื่อได้ลองทำงานแล้วในช่วงแรกปรากฏว่าได้รับเงินจริงจำนวนหลายครั้ง จากนั้นทางกลุ่มคนร้าย ได้ชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมทำกิจกรรมลักษณะการทำกิจกรรมพิเศษ โดยต้องนำเงินมาลงทุน และได้รับผลตอบแทน 30% ถึง 50% โดยช่วงแรก ได้รับผลตอบแทนจริง จากนั้นเมื่อลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่สามารถถอนเงินออกจากระบบได้ โดยคนร้ายอ้างว่าผู้เสียหายไม่ทำตามขั้นตอนที่กำหนด

ต่อมา ตำรวจพบว่าขบวนการดังกล่าว ซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ มีการโยกย้ายถ่ายเทเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินดิจิทัล ก่อนจะถ่ายเทไปยังกระเป๋าดิจิทัลอีกหลายทอด จนกระทั่งพบว่ากลุ่มผู้ต้องหา ทำหน้าที่ฟอกเงินและแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินสด เพื่อนำส่งให้กับกลุ่มจีนเทาภายในประเทศไทย เบื้องต้นพบมีผู้เสียหายประมาณ 60 ราย มูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาท จากการขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 32 ราย ประกอบด้วยบัญชีม้าคนไทย 10 ราย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนจำนวน 2 ราย กลุ่มขบวนการฟอกเงินจำนวน 20 ราย ซึ่งมีทั้งชาวไทยชาวจีนและชาวเกาหลี
จากนั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 68 ตำรวจได้ขยายผล ตรวจค้น 20 จุด ใน 8 จังหวัด โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 10 ราย ซึ่งเป็นแก๊งฟอกเงิน ให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ภายในประเทศไทย จำนวน 5 ราย และเจ้าของบัญชีม้าอีก 5 ราย โดยตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินต่าง ๆ รวม 210 รายการ มูลค่าทั้งหมดกว่า 440 ล้านบาท โดย น.ส.อัจฉรา เป็นตัวการฟอกเงินในประเทศไทย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่รับในข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 62 เคยทำหน้าที่เป็นล่ามและไกด์พาเที่ยวให้กับชาวจีน ต่อมาปี 66 ได้รู้จักกับแฟนหนุ่มชาวจีน และร่วมกันรับแลกเหรียญดิจิทัลจากลูกค้ากลุ่มจีนเทาต่าง ๆ ที่ต้องการใช้เงินในประเทศไทย จากนั้นได้นำเหรียญดิจิทัลมาขาย และนำมาแลกเปลี่ยน นำส่งให้กลุ่มจีนเทาตามคำสั่ง โดยจะได้ค่าบริการ 0.03% ถึง 0.05% ของยอดเงิน

โดยขั้นตอนการทำงาน แฟนหนุ่มชาวจีน จะติดต่อกับกลุ่มจีนเทาต่าง ๆ จากนั้นตนและสมาชิกในแก๊ง ที่ได้รับเงินดิจิทัล โดยนำเหรียญดิจิทัลมาขายในรูปแบบ p2p ผ่านแพลตฟอร์ม Exchange โดยผู้ต้องหาจะส่งเงินตามคำสั่งของกลุ่มจีนเทา ซึ่งหักยอดเงินจำนวนไม่มาก ตนเองและแฟนหนุ่ม จะใช้วิธีการโอนเงินผ่านบัญชีของตนไปให้ลูกค้า แต่ถ้าหากจำนวนเงินมาก ก็จะเบิกเงินสดนำไปส่งมอบให้ลูกค้า หรือนำเงินสดเข้าบัญชีต่าง ๆ ตามคำสั่งของกลุ่มจีนเทา เนื่องจากกลุ่มจีนเทาต้องการใช้เงินในประเทศไทย
โดยตนเองได้ทำหน้าที่ฟอกเงินในปี 66 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการรับเป็นสกุลเงินดิจิทัลสกุล USDT จำนวน 187 ล้านเหรียญ USDT คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,500 ล้านบาท และมีการถอนเงินสดเป็นเงินไทย 2,900 ล้านบาท และยังมีการนำเงินที่ได้จากการกระทำผิดไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ สำหรับผู้ต้องหาลำดับที่ 2-5 เป็นผู้ต้องหาชาวจีน ประกอบด้วย MR.GAO อายุ 35 ปี MR.XIONG อายุ 30 ปี MR.MAO อายุ 46 ปี MRS.ZHOU อายุ 44 ปี ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

แต่รับในข้อเท็จจริง มีส่วนร่วมกับผู้ต้องหาที่ 1 และกลุ่มคนจีนอื่นๆ มีการแบ่งหน้าที่กันทำในการรับเหรียญดิจิทัลมาจากกลุ่มจีนเทา มาเทขายเหรียญก่อนนำเงินสดส่งมอบให้ลูกค้า โดยคดีนอกจากพบความเกี่ยวข้องของเส้นทางการเงินที่มีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆแล้ว ยังพบว่าขบวนการนี้มีพฤติการณ์ในการก่อตั้งบริษัทที่ให้คนไทยเป็นนอมินี ในการจัดตั้งเพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ จะเปลี่ยนกรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนจีน ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใช้เพื่อโอนกรรมสิทธิ์บ้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจจริง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเงินไหลเข้าไปบริษัทอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 10 บริษัท ในย่านบางนา เอกมัย และฝั่งธน ซึ่งใช้นอมินีสัญชาติไทย แต่กรรมการเป็นคนจีน ซึ่งตรงนี้ตำรวจจะต้องตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม.
