น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 10 – 16 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 2,592,850 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ชักชวนให้ลงทุนฝากเงินในบัญชีธนาคารต่างประเทศ แจ้งได้ดอกเบี้ยสูงและรวดเร็วสามารถยกเลิกได้ทันที ผู้เสียหายสนใจจึงพูดคุยสอบถามรายละเอียด จากนั้นมิจฉาชีพส่งลิงก์เว็บไซต์ที่ใช้สำหรับการลงทุน และแจ้งว่าจะต้องมีค่าสมัครการใช้บริการ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ในช่วงเเรกได้รับผลตอบแทนจริง จึงโอนเงินลงทุนไปหลายครั้ง ภายหลังต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพอ้างว่ามี ยอดเงินในบัญชีสูงจะต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการถอนเงินออกมา จึงโอนเงินไปเพื่อดำเนินการ หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อกับมิจฉาชีพได้อีกและไม่ได้รับเงินคืน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,037,652 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทาง Messenger Facebook อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร แจ้งว่าผู้เสียหายจะได้รับค่าภาษีรายได้ส่วนบุคคลคืน แล้วให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อยืนยันสิทธิ์ ต่อมาให้สแกน QR Code และทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ จากนั้นได้รับข้อความจาก Mobile Banking แจ้งว่ายอดเงินในบัญชีถูกโอนออกไปจนหมด ผู้เสียหายติดต่อมิจฉาชีพแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 39,116,981 บาท โดยผู้เสียหายได้พบโฆษณาชักชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Tiktok ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพส่งลิงก์สำหรับการลงทุนเทรดหุ้นและแนะนำขั้นตอนต่างๆ จากนั้นให้โอนเงินเพื่อทำการเริ่มลงทุน ในช่วงแรกได้รับผลตอบเเทนจริง ต่อมาแจ้งว่าให้โอนเงินเทรดหุ้นเพิ่ม เนื่องจากหุ้นที่ผู้เสียหายกำลังสนใจมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีมูลค่าสูงขึ้น ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินเพิ่มไปหลายครั้ง ภายหลังไม่สามารถติดต่อกับทางมิจฉาชีพได้ จึงได้ติดต่อสอบถามกับ บริษัทที่ลงทุน ทราบว่าบริษัทถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแอบอ้าง ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 2,339,612บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่โทรคมนาคม แห่งชาติ แจ้งว่าบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายถูกนำไปเปิดหมายเลขโทรศัพท์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชีม้า จากนั้นมีการโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับคดี และให้โอนเงินตรวจสอบเส้นทางการเงิน อ้างว่าจะมีการโอนเงินคืนให้หลังจากตรวจสอบเสร็จสิ้น หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีโทษตามกฎหมาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังไม่มีการโอนเงินคืนและไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,303,893 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line มิจฉาชีพส่งภาพถ่ายหน้าร้านค้าออนไลน์ของผู้เสียหาย และชักชวนให้เปิดร้านค้าเพิ่มใน Group Line โดยจะต้องเสียค่าสมัครสมาชิกการขายสินค้า ผู้เสียหายสนใจจึงโอนเงินไปและถูกดึงเข้า Group Line ในช่วงแรกสามารถขายสินค้าและได้รับเงินจริง ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่ารหัสการใช้งานของผู้เสียหายจะหมดอายุต้องโอนเงินเพื่อเป็นการต่ออายุสมาชิก จึงโอนเงินไปอีกหลายครั้ง ภายหลังต้องการถอนเงินออกจากระบบ มิจฉาชีพอ้างว่ารหัสสมาชิกของผู้เสียหายเกิดข้อผิดพลาด ต้องโอนเงินเพื่อแก้ไขในระบบก่อนจึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้ หลังจากโอนเงินไปไม่สามารถถอนเงินได้ และถูกลบออกจาก Group Line ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 47,390,988 บาท

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการต่างๆ หลอกลวงผู้เสียหาย ทั้งการหลอกให้ลงทุนเทรดหุ้น โดยโฆษณาผ่าน TikTok ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อสูญเงินกว่า 39 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการหลอกลวงรูปแบบอื่นๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook และ Line โดยเฉพาะการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อทำเรื่องขอคืนเงินภาษี หรือข่มขู่ว่าผู้เสียหายพัวพันกับบัญชีม้า ทั้งนี้ขอย้ำว่า การติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรงหรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามาขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” น.ส.วงศ์อะเคื้อ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง