ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ตำรวจอังกฤษเชื่อว่า ฆาตกรที่มีผู้ตั้งฉายาให้ว่า “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” คือคนที่สังหารโสเภณีในย่านไวท์แชเพลอย่างโหดเหี้ยมไม่ต่ำกว่า 5 ราย ได้แก่ แมรี นิโคลส์ วัย 43 ปี, แอนนี แชปแมน วัย 47 ปี, เอลิซาเบธ สไตรด์ วัย 44 ปี, แคเทอรีน เอดโดว์ส วัย 46 ปีและแมรี เจน เคลลี วัย 25 ปี 

เหยื่อสาวเหล่านี้ไม่เพียงโดนฆาตกรรม แต่ยังโดนเชือดเนื้อเถือหนัง ชำแหละอวัยวะภายในออกมาด้วย ทำให้ตำรวจตั้งข้อสันนิษฐานว่า ฆาตกรน่าจะมีความรู้ทางภายวิภาคหรือการผ่าตัดทางการแพทย์

แม้จะมีผู้ต้องสงสัยที่เข้าเค้าหลายราย แต่สุดท้ายแล้ว ตำรวจไม่สามารถหาหลักฐานมัดตัวใครได้ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ จึงไม่เคยโดนจับกุมและไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ออกมายืนยันว่า เขาเชื่อว่าพบตัวตนที่แท้จริงของฆาตกรโหดรายนี้แล้ว

รัสเซลล์ เอ็ดเวิร์ดส์ เป็นนักเขียนชาวอังกฤษและผู้ที่หลงใหลในการศึกษาคดีฆาตกรรมแห่งประวัติศาสตร์นี้มากว่าสิบปี ก่อนหน้านี้ในปีค.ศ. 2007 เขาเคยประกาศว่าได้ซื้อผ้าคลุมไหล่เก่าผืนหนึ่งซึ่งมีทั้งรอยเลือดและรอยอสุจิมาโดยเชื่อมั่นว่าเป็นสมบัติของหนึ่งในเหยื่อทั้งห้าของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ซึ่งก็คือ แคเทอรีน เอ็ดโดว์ส 

เอ็ดเวิร์ดส์และผ้าคลุมไหล่ที่เขาอ้างเป็นสมบัติของเหยื่อคนหนึ่งที่แจ็ค เดอะ ริปเปอร์สังหาร

หลายปีต่อมา เขานำผ้าคลุมไหล่ผืนนั้นไปผ่านกระบวนการทดสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ และพบร่องรอยดีเอ็นเอของคนสองคนบนผ้าผืนนั้น ดีเอ็นเอชุดหนึ่งตรงกับดีเอ็นเอของลูกหลานของ เอ็ดโดว์ส ขณะที่อีกชุดหนึ่งตรงกับของลูกหลานช่างตัดผมชาวโปแลนด์ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 23 ปีช่วงที่เกิดคดีฆาตกรรม

เมื่อทราบชื่อของชายเจ้าของดีเอ็นเอชุดที่ 2 เอ็ดเวิร์ดสก็สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของฆาตกรเลือดเย็นเจ้าของฉายา แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ได้ในที่สุด ซึ่งก็คือ แอรอน คอสมินสกี

เอ็ดเวิร์ดส์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า แม้เขาจะเชื่อมั่นในทันทีที่พบชื่อชายเจ้าของดีเอ็นเอชุดที่ 2 บนผ้าคลุมไหล่ของเอ็ดโดว์ส ว่านั่นคือดีเอ็นเอของฆาตกรในตำนาน แต่เขาก็ยังคงตรวจสอบผู้ต้องสงสัยคนอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้แน่ใจ

นักเขียนหนุ่มใหญ่เล่าว่า การทดสอบดีเอ็นเอเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานถึงสี่ปี  พวกเขาต้องหาทางหลีกเลี่ยงปัญหาการปนเปื้อนและอุปสรรคอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเขาค้นพบว่าดีเอ็นเอจากผ้าคลุมตรงมีเจ้าของ เขาก็ดีใจมากที่ประสบความสำเร็จเสียที

“เมื่อเราจับคู่ดีเอ็นเอจากเลือดบนผ้าคลุมกับลูกหลานเพศหญิงโดยตรงของเหยื่อได้ มันเป็นช่วงเวลาที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในชีวิตของผมในตอนนั้น” เขากล่าว “เราทดสอบน้ำอสุจิที่ทิ้งไว้บนผ้าคลุม เมื่อเราจับคู่ได้ ผมก็ตกตะลึงที่เราได้ค้นพบว่า แท้จริงแล้ว แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ เป็นใคร”

แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่โต้แย้งเรื่องที่มาของผ้าคลุมไหล่ กระบวนการทดสอบดีเอ็นเอตลอดจนโอกาสที่หลักฐานจะมีการปนเปื้อนเนื่องจากผ่านกาลเวลายาวนานกว่าร้อยปี แต่เอ็ดเวิร์ดสยังคงยืนหยัดว่า เขาทำทุกอย่างอย่างถูกต้องตามวิธีการ

แอรอน คอสมินสกี

แอรอน คอสมินสกี ซึ่ง เอ็ดเวิร์ดส์ ระบุว่าเป็นตัวจริงของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์นั้น มาจากภูมิภาคตอนกลางของประเทศโปแลนด์ เขาเดินทางมาที่อังกฤษตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเติบใหญ่ก็ประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผมในย่านไวท์แชเพลของกรุงลอนดอน

ประวัติทางการแพทย์ของคอสมินสกีระบุว่า เขาป่วยทางจิตตั้งแต่ปีค.ศ. 1885 และเคยเข้าสถานบำบัดผู้ป่วยทางจิตมาหลายแห่ง เขามีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดกลัวเวลามีคนป้อนอาหารและปฏิเสธการอาบน้ำโดยสิ้นเชิง เขาเสียชีวิตในปีค.ศ. 1919 ตอนอายุได้ 53 ปี

ด้านลูกหลานของบรรดาเหยื่อฆาตกรรมของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ได้เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจลงมือสืบสวนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคอสมินสกี เพื่อให้บทสรุปของเอ็ดเวิร์ดส์ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ผลของการตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานสำคัญของคดีนี้ยังไม่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิในฐานะกรณีศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายความว่ายังไม่สามารถนำผลการวิเคราะห์เหล่านี้มาอ้างอิงได้อย่างเป็นทางการ

ภายใต้กฎหมายของสหราชอาณาจักร อัยการสูงสุดของรัฐจะต้องเป็นผู้อนุมัติการสอบสวนเพิ่มเติมในคดีแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ แต่เมื่อสองปีก่อน อัยการสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร ไมเคิล เอลลิส ก็เคยปฏิเสธคำร้องขอฟื้นคดีไปแล้ว โดยระบุว่า “ไม่มีหลักฐานใหม่เพียงพอ” ที่จะสนับสนุนให้เปิดการสอบสวนขึ้นมาใหม่

ที่มา : news.com.au

เครดิตภาพ :  Facebook / russell.s.edwards.7, Instagram / Russell Edwards