เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่โรงเรียนสงขลาปัญญาพัฒนา จ.สงขลา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา พร้อมมอบนโยบายการจัดการเรียนการสอนในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.) นอกสถานที่ จ.สงขลา
โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้มาติดตามรับฟังการแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ภายใต้การทำงานตลอดระยะเวลา 1 ปีของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้เห็นว่าทุกหน่วยงานตั้งใจที่จะปฏิบัติงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดภาระครูลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โครงการสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันของกลุมโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งถึงว่าจังหวัดสงขลา บริหารจัดการศึกษาได้ดี
ซึ่งได้ตรวจเยี่ยมที่โรงเรียนสงขลาปัญญาพัฒนา ถือเป็นศูนย์บ่มเพาะการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้สู่ความยั่งยืน ส่งเสริมทักษะการมีงานทำสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เรียน ครูมีความรู้มีทักษะในด้านของอาชีพ นักเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพ ทั้งระหว่างเรียนและจบการศึกษาได้
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตนยังได้รับฟังรายงานการจัดการศึกษาในพื้นที่สงขลา เพราะถือเป็นศูนย์จัดการศึกษาระดับภาคใต้ ซึ่งภาพรวมการวัดผลทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน โรงเรียนกลุ่มจังหวัดสงขลามีคะแนนสูงกว่าในกลุ่มภาคใต้และระดับประเทศ แต่กลับพบว่าในวิชาคณิตศาสตร์ มีคะแนนทดสอบลดดลงทุกปี 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ กำลังวางแผนและเร่งผลักดันให้การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ขยับเพิ่มสูงขึ้นต่อไป ทั้งนี้แม้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองใหญ่ มีโรงเรียนยอดนิยมจำนวนมาก แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังมีอยู่ ซึ่งเกิดจากสภาพเศรษฐกิจและภูมิสังคมของจังหวัดสงขลา จึงทำให้เกิดเด็กหลุดระบบการศึกษา โดยจังหวัดสงขลา มีเด็กหลุดระบบการศึกษา 23,681 คน และได้แก้ปัญหาด้วยการปูพรมค้นดึงเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ครบ 100% นอกจากนี้ยังพบการรายงานตัวเลขเด็กหลุดระบบการศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งพื้นเพของครอบครัวประชาชนใน จ.สงขลา ประกอบอาชีพหาปลา และเด็กจะต้องออกไปหาปลาช่วยผู้ปกครอง ดังนั้นเราเล็งที่จะทำโรงเรียนมือถือ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง ตอบโจทย์เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา
‘นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังขอทำเรื่องไปถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากระเบียบฉบับดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขให้การสนับงบประมาณด้านการศึกษาของ อบจ. ให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ นั้น โรงเรียนที่ อบจ. ให้การสนับสนุนจะต้องสมทบงบให้กับ อบจ. 25% ซึ่งเรามองว่าหากเป็นกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก คงไม่สามารถหางบประมาณมาสมทบได้ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กก็แทบจะไม่มีงบเงินอุดหนุนใช้บริหารจัดการไม่เพียงพอ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าว รมว.ศธ. ได้รับเสียงสะท้อนจากพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องการให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนปลดล็อกเงื่อนไขในฉบับนี้ เพื่อให้ อบจ. ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการการศึกษาในโรงเรียนได้ เพราะมี อบจ.หลายแห่ง อยากที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น อบจ.นนทบุรี เป็นต้น’ นายสุรศักดิ์ กล่าว