เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดสงขลา สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 2 ในพื้นที่ภาคใต้ มี 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 30,422 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี–หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท และช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,772 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นอกจากนี้ รฟท. เตรียมขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2568 งบกลาง เพื่อดําเนินงานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระยะทาง 216 กม. เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย การค้าชายแดน การท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแผนเปิดให้บริการปี 2577

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการทางถนน มีแผนก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย อ.หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (มอเตอร์เวย์ M84) เชื่อมต่อเมืองหาดใหญ่ กับด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 วงเงิน 40,787 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขออนุมัติโครงการ โดยมีแผนก่อสร้างในปี 2570–2573 ขณะเดียวกันยังมีโครงการแก้ไขปัญหาจราจร ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันออก) ทล.425 ตอน บ้านพรุ-ทางเข้าสนามบินหาดใหญ่ กม. 24+148.450-31+331.426 ด้านซ้ายทาง มีความคืบหน้า 23.973% และ กม.24+148.450-31+331.426 ด้านขวาทาง คืบหน้า 0.511%

นอกจากนี้มีแผนขอรับงบประมาณในปี 2569 สำหรับด้านตะวันออก กม.0+000-24+151 ระยะทาง 24.15 กม. วงเงิน 9,380 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขอพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และด้านตะวันตก กม.31+331-กม.65+530 ระยะทาง 34.20 กม. วงเงิน 9,500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) สำหรับโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 4,825.423 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี ทะเลสาบสงขลา ก่อนที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเจรจาเงินกู้กับธนาคารโลก ทั้งนี้มีแผนก่อสร้างปลายปี 2568–2571

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการด้านอากาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีแผนเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหาดใหญ่ ระยะสั้น (1-2 ปี) โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารชั้น 2 และปรับปรุงถนนระบบภายใน และแผนระยะกลาง (3-5 ปี) ก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาความคุ้มค่าการลงทุน

ส่วนแผนระยะยาว ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อให้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ รองรับผู้โดยสารได้ 10.5 ล้านคนต่อปี และรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ 21 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) ได้แก่ การก่อสร้างทางขับขนาน และขยายลานจอดอากาศยาน การขยายและปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร การก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์และคลังสินค้า การปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์ และระบบสาธารณูปโภค โดยมีวงเงินจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท 19.995 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี 2568–2569 ทั้งนี้ปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี 12 เที่ยวบินต่อ ชม.

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ทั้งนี้ในส่วนของโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เมื่อ ครม. เห็นชอบแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีแล้วให้ประสานการดำเนินงานร่วมกับ สบน. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญา และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 พร้อมทั้งให้ รฟท. เร่งจัดทำข้อมูลรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการประมวลเรื่องนำเสนอ ครม. ตามขั้นตอนโดยเร็ว

และให้เตรียมพร้อมสำหรับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และจัดทำเอกสารประกวดราคางานก่อสร้าง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อ ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ขณะเดียวกันได้มอบให้กรมเจ้าท่า (จท.) ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำสำคัญให้เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ โดยเฉพาะร่องน้ำสงขลา (ร่องนอก) ให้มีความลึก 9 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด ตามมติ ครม. ภายในปี 2570 เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าชายฝั่ง และได้สั่งการให้ ทอท. เร่งพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ ให้เป็นศูนย์กลางการบินในท้องถิ่น.