เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 5 คน พัวพันเว็บพนันออนไลน์ ว่า หลังจากเข้ามารับหน้าที่ต่อจาก พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช อดีต รอง ผบ.ตร. ก็ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการหลายครั้งแล้ว โดยเป็นการทำงานต่อเนื่องกับคณะกรรมการชุดที่แล้ว โดยจะครบกำหนดตามกรอบเวลา 270 วัน ในวันที่ 20 ก.พ. นี้ หากไม่ได้ข้อสรุป ก็อาจจะเสนอ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อขยายกรอบระยะเวลาอีก 30 วัน หรือ 60 วัน แต่จะมีการประชุมนอกรอบเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานว่าที่รวบรวมมาเพียงพอจะสรุปผลหรือไม่

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า สำหรับผลการพิจารณาจะออกได้ 3 แนวทาง คือไม่ผิดวินัย การทำงานก็จะจบ สามารถกลับเข้ารับราชการได้ หากผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หากเป็นวินัยไม่ร้ายแรงจะถูกลงโทษอาทิ กักยาม หรือ ภาคทัณฑ์ และยังสามารถกลับเข้ารับราชการได้ แต่หากผิดวินัยร้ายแรง จะมีโทษคือปลดออกหรือไล่ออก

ทั้งนี้มีรายงานว่าประเภทความผิดวินัยร้ายแรง ประกอบด้วย ประพฤติชั่ว คือทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์การเป็นข้าราชการตำรวจ และประพฤติชั่วร้ายแรง คือทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์การเป็นข้าราชการตำรวจและต่อหน่วยงานราชการ เช่น สมคบโจร ซึ่งหากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดอาญาต้องโทษตั้งแต่จำคุกขึ้นไป จะถือว่ามีความผิด “ปรากฏชัดแจ้ง” จะทำให้ผู้นั้นถูกลงโทษวินัยทันทีตามกฎ ก.ตร. โดยไม่ต้องตั้งกรรมการวินัยสอบ

มีรายงานอีกว่า หากคณะกรรมการสรุปว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล มีความผิดวินัยร้ายแรงก็จะเสนอ ผบ.ตร.ให้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโทษซึ่งประกอบด้วย รอง ผบ.ตร. ทั้งหมด พิจารณาโทษว่าจะไล่ออกหรือปลดออก โดยมีกรอบระยะเวลา ส่วน พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ สามารถอุทธรณ์คำสั่ง ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ซึ่งหากยืนตามคณะกรรมการวินัย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดยืนตาม ก.พ.ค.ตร. ก็จะทำให้คดีวินัยถึงที่สุดก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาถอดยศตำรวจ.