The Guardian สหราชอาณาจักร รายงานว่า ปี 2025 กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในด้านความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาอาหาร โดยผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนคาดการณ์ว่าราคาอาหารจะยังคงมีความผันผวนสูงตลอดทั้งปี
สินค้าเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบหนัก
ข้อมูลจาก ‘อินเวอร์โต’ (Inverto) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์และการจัดการห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ชี้ให้เห็นว่าราคาของสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมานั้น เกิดจากปรากฏการณ์สภาพอากาศที่ผิดปกติ อาทิ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น อีกทั้งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกยังยืนยันว่าปี 2024 เป็นปีที่โลกเผชิญกับอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงในปีนี้
เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตรในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงและคุณภาพลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโกโก้และกาแฟที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าสองเท่าในปีที่ผ่านมา ถึง 163% และ 103% ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้นผิดปกติและอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกหลัก ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและคุณภาพของสินค้า
นอกจากนี้ น้ำมันดอกทานตะวัน ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในบัลแกเรียและยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 56% สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนยิ่งซ้ำเติมปัญหาและส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งสินค้าเกษตรทั่วโลก แน่นอนว่าอาหารประเภทอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวเช่นกัน น้ำส้มและเนยมีราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30% ขณะที่ราคาเนื้อวัวก็เพิ่มขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สภาพอากาศที่ผันผวนและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรทั่วโลก และกดดันให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญแนะภาคอุตสาหกรรมอาหารเร่งปรับตัว
‘คาทาริน่า เออร์ฟอร์ต’ จากอินเวอร์โต ให้ความเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมอาหารควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชนและแหล่งวัตถุดิบให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียวมากเกินไป เนื่องจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ภัยธรรมชาติ หรือสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สามารถส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและกระทบต่อการผลิตอาหารในวงกว้าง ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงไปยังแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก
วิกฤติสภาพอากาศส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร
ธันวาคมในปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ออกมาเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเงินเฟ้อของราคาอาหารกำลังทำให้จำนวนครัวเรือนที่ขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้น
‘พีท ฟอลลูน’ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหาร สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักรและมหาวิทยาลัยบริสตอล อธิบายว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับการคาดการณ์ที่ว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และพายุรุนแรง จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ สภาพอากาศที่ผันผวนเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตลดลง คุณภาพเสื่อม และห่วงโซ่อุปทานขาดความเสถียร ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก
‘แม็กซ์ คอตซ์’ จากสถาบันพอทส์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบต่อสภาพอากาศ กล่าวเสริมว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เหตุการณ์คลื่นความร้อนรุนแรงในเอเชียตะวันออกที่ส่งผลให้ราคาข้าวในญี่ปุ่นและราคาผักในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ภัยแล้งในแอฟริกาตะวันตก บราซิล และเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญ เช่น โกโก้ และกาแฟ ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าเกษตรโลกอย่างรุนแรง
“ตราบใดที่ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิยังไม่เป็นศูนย์ สภาพอากาศที่ผันผวน ภัยแล้ง หรือแม้แต่ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ก็จะเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ และจะส่งผลต่อไปยังปัญหาราคาสินค้าเกษตร รวมถึงความมั่นคงทางอาหารให้ยิ่งแย่ลงกว่าที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน” คอตซ์ ย้ำทิ้งท้าย