เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ ห้อง ศปก. ชั้น 4 อาคาร 2 สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง) กรุงเทพฯ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย พล.ต.ต.เศรษฐสิริ นิพภยะ ผบก.กองบังคับการตำรวจน้ำ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พ.อ.อภิชัย ทองธรรมชาติ รอง ผบช.หน่วยข่าวกรองทางทหาร ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ขกท.) นายปฤณ เมฆานันท์ ผอ.สำนักปราบปรามยาเสพติด และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการจับกุมขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดส่งต่างประเทศ
จับกุมผู้ต้องหา 3 ราย พร้อมไอซ์ 500 กิโลกรัม ซึ่งลักลอบลำเลียงยาเสพติดมาจากชายแดนพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเตรียมลำเลียงไปยังประเทศที่สาม เหตุเกิดที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ต่อเนื่อง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และ จ.เชียงใหม่ ขยายผลตรวจค้น 5 จุด (โกดังและบ้านพัก) ในพื้นที่ จ.เชียงราย และ กทม. พบไอซ์จำนวนหนึ่ง พร้อมอุปกรณ์การเสพ (ที่บ้านผู้ต้องหาที่ 2) ตรวจยึดทรัพย์สิน อาทิ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ ทองรูปพรรณ เงินสด รวมมูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า การจับกุมดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจและทหาร สืบสวนพฤติการณ์ขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดส่งต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากนายปฤณ เมฆานันท์ ผอ.สำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กรณีพบรถบรรทุกต้องสงสัยที่เป็นเครือข่ายลำเลียงยาเสพติด ขับมุ่งหน้าเข้าพื้นที่ภาคกลาง จึงสั่งการให้ติดตามพฤติการณ์อย่างใกล้ชิด
กระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่รถบรรทุกคันดังกล่าวขับเข้าเขตพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเพื่อขอทำการตรวจค้น พบ ไอซ์ 500 กิโลกรัม บรรจุ 20 กระสอบ มีน้ำหนักกระสอบละ 25 กิโลกรัม พร้อมจับกุมคนขับรถบรรทุก (ผู้ต้องหาที่ 1) อย่างไรก็ตาม คนขับรถบรรทุกให้การว่า เตรียมนำยาเสพติดไปส่งบริเวณพื้นที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เจ้าหน้าที่จึงขยายผลเพื่อจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้อง กระทั่งวันที่ 16 ก.พ. เวลาประมาณ 05.00 น. สามารถจับกุมบุคคลที่มารับยาเสพติด 1 ราย (ผู้ต้องหาที่ 2) พร้อมรถกระบะตู้ทึบ ที่เตรียมมาขนถ่ายยาเสพติด มีบุคคลที่หลบหนี 2 ราย เหตุเกิดที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
จากการสอบปากคำคนขับรถบรรทุก (ผู้ต้องหาที่ 1) ให้การว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 68-ปัจจุบัน ได้รับจ้างลำเลียงยาเสพติดมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง ได้ค่าจ้างเป็นเงินสดครั้งละ 100,000 บาท ส่วนพื้นที่ส่งมอบยาเสพติด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี และ จ.นนทบุรี โดยรับว่าไปลำเลียงยาเสพติดมาจากโกดังในพื้นที่ จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่จึงเร่งตรวจสอบข้อมูล กระทั่งเวลาประมาณ 13.00 น. สามารถติดตามจับกุมบุคคลที่นำยาเสพติดมาส่งมอบให้คนขับรถบรรทุกที่โกดังได้ที่ จ.เชียงใหม่ (ผู้ต้องหาที่ 3)
ส่วนที่มาของการสืบสวนจับกุม เริ่มจากสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคี ได้ดำเนินการสืบสวนเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือน ก.ค. 67-ปัจจุบัน (ระยะเวลา 7 เดือน) ได้สืบสวนจับกุมเครือข่ายดังกล่าวรวม 3 คดี พร้อมตรวจยึดยาเสพติด (ไอซ์และเฮโรอีน) ปริมาณเกือบ 1 ตัน ยึดทรัพย์กว่า 18 ล้านบาท ปลายทางของยาเสพติด ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย เป็นต้น
ทุกวันนี้มักมีคำถามเยอะว่า ทำไมเราจับได้เฉพาะแรงงานหรือคนขนลำเลียง จึงต้องเรียนว่า นายทุนใหญ่มักจะอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถือว่าเราก็ได้จับในผู้ต้องหาระดับเป็นผู้สั่งการขึ้นมา ถือว่าเป็นการหยุดความเคลื่อนไหวได้ ซึ่งหากคนไทยถูกออกหมายจับ ก็จะหลบไปอยู่ที่ประเทศเมียนมา หรือ สปป.ลาว ดังนั้น เรื่องความร่วมมือถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และไทยเองก็มีความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมา และไทย-สปป.ลาว ซึ่งทราบว่าภายในปลายเดือน ก.พ. นี้ จะมีการประชุมร่วมกันของ 3 ฝ่าย และจะมีการเปิดปฏิบัติการร่วมกัน เช่น หากมีการตรวจค้นในฝั่งไทย ในฝั่งเมียนมา และ สปป.ลาว ก็จะเป็นการเปิดปฏิบัติการร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการสืบสวน ส่วนใหญ่นายทุนจะเป็นกลุ่มทุนจีน แต่ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของประเทศนั้น ๆ ด้วย อย่างกรณีของเมียนมา เข้าใจได้ว่าบางพื้นที่ก็เข้าไม่ถึง เพราะมีชนกลุ่มน้อย อันนี้ตนได้นำเรียนผู้ใหญ่ไปแล้วว่าจะต้องมีการขอความร่วมมือไปยังแหล่งผลิตยาเสพติด ซึ่งก็คือที่รัฐฉาน อยู่ติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน
สำหรับ Drug Profile การตรวจคุณสมบัติของยาเสพติด อย่างไอซ์ คือ เพียวเมทแอมเฟตามีน แต่ถ้ายาบ้าจะมีส่วนผสมของเมทแอมเฟตามีน ประมาณ 17-21% ซึ่งเมทแอมเฟตามีนที่ผสมในยาบ้า จะมีสารตั้งต้นที่เรียกว่า อีเฟดรีน (Ephedrine) ส่วนซูโดอีเฟดรีน เป็นภาษาละติน แปลว่าของปลอมของเทียม จึงเป็นสารสังเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ที่เราเคยจับได้ ถ้าเป็นซูโดอีเฟดรีนในยาบ้าหรือไอซ์ จะมาจากประเทศอินเดีย แต่ถ้าเป็นอีเฟดรีนในยาบ้าหรือไอซ์ จะมาจากพืช ซึ่งพืชตัวนี้ปลูกที่ประเทศจีนอย่างเดียว นี่จึงเป็นส่วนที่เราจะขอความร่วมมือจากจีน ให้ช่วยสกัดกั้นสารตั้งต้นจากมณฑลยูนนาน ที่จะเข้าไปยังแหล่งผลิตยาเสพติดสำคัญในรัฐฉาน
เมื่อถามว่าปัจจุบันนี้ ทางการไทยได้รับการประสานความร่วมมือจากทางการจีน กรณีมีผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่หลบหนีกบดานในประเทศไทย เพื่อประสานการส่งตัวดำเนินคดีหรือไม่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุว่า ในตอนนี้ยังไม่มี แต่ก่อนหน้านี้เคยมีเคสหมายจับผู้ต้องหาชาวจีน ทางการจีนได้ส่งมาขอให้เราช่วยจับกุม ซึ่งเป็นเคสสารเอโทมีเดท ที่ถูกนำมาเพื่อจะใช้ผสมกับบุหรี่ เราจึงจับส่งผู้ต้องหาให้ทางการจีนไป
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุอีกว่า การที่ตนเดินทางไปยังประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว บ่อยครั้ง เพื่อไปขอความร่วมมือ เพื่อที่จะบอกกล่าวว่าประเทศมีพรมแดนจริง แต่ปัญหาเรื่องยาเสพติดนั้น ต้องไร้พรมแดน ต้องไม่มีเส้นแบ่ง ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน อย่างที่เห็นในการข่าวที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นว่า สปป.ลาว ได้ช่วยจับผู้ต้องหาที่เป็นคนไทยที่มีหมายจับซึ่งไปหลบซ่อนที่ลาว แล้วส่งกลับให้เราได้ดำเนินคดี
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างมากในปัจจุบันนี้ ว่า ต้องเรียนว่าอำนาจของเราจะเข้าไปคาบเกี่ยวก็ต่อเมื่อมีการใช้สารเสพติดผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตามประมวลกฎหมาย ป.วิอาญา จะเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะจับกุมเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น หาก ป.ป.ส. เจอแล้ว จะไปจับบุหรี่ไฟฟ้าจึงยังไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าหากบุหรี่ไฟฟ้ามีการผสมยาเสพติด จะเป็นอำนาจของ ป.ป.ส. โดยตรง แต่เข้าใจว่าจะมีการประชุมของคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (ครส.) ในวันที่ 20 ก.พ. นี้ โดยจะมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จะยกเรื่องนี้เป็นวาระ ซึ่งจะมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้มีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ เพราะเห็นว่าเด็กและเยาวชนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเยอะมาก จึงขอฝากเตือนไปยังผู้ปกครองว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพ และหากมีการนำยาเสพติดไปผสมด้วยนั้น แม้ทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม แต่เมื่อเด็กไม่รู้ เมื่อสูบเข้าไปทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสติสัมปชัญญะ อาจนำไปสู่การถูกล่วงละเมิดได้ ฝากผู้ปกครองช่วยเป็นหูเป็นตาป้องกันการแพร่ระบาดของเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
นอกจากสำนักงาน ป.ป.ส. จะมุ่งเน้นการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติดตามแนวพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกอย่างเข้มข้นแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส. ยังมีมาตรการขยายผลการสืบสวนเพื่อตรวจยึดทรัพย์สิน และผู้เกี่ยวข้อง นายทุนผู้สั่งการ มาดำเนินคดีตามกฎหมายควบคู่กันไป โดยมีเป้าหมายเพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดอย่างเป็นระบบ และยิ่งในปัจจุบันปัญหาการค้ายาเสพติดในลักษณะเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค การบูรณาการทางการข่าวระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศ ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในปัจจุบัน ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวเกี่ยวกับเครือข่ายการค้ายาเสพติด ร่วมกับหน่วยงานภาคีภายในประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศ จนนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ในการสืบสวนขยายผลเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม.