“เกษตร” ไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง แต่ยังต่อยอดสู่อาชีพได้ด้วย เช่นที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้การสนับสนุนนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้ลงมือปลูกพืชผัก ผลไม้ เพื่อบริโภคเป็นอาหารกลางวัน ผ่าน “โครงการปลูกความรู้ด้านการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” ที่ไม่ใช่แค่ผลิตอาหารปลอดภัย แต่ยังสามารถนำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วย นายพรชัย งามสินจำรัส ผอ.ฝ่ายกิจการสาขาภาคกลาง ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม จ.ปทุมธานี หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. ผ่านโมเดล Smart Farm ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

อาทิ การปลูกผักสวนครัว การปลูกเมล่อนโดยไม่พึ่งสารเคมี การเลี้ยงปลา และการเพาะเห็ด โดยนำวัตถุดิบที่ได้ทั้งหมดจะถูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารกลางวันนักเรียน อีกส่วนนำไปจำหน่าย ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ได้ประโยชน์ทั้งกับนักเรียนและครอบครัว เป็นการยกระดับ “เกษตรเพื่อการบริโภค” เป็น “เกษตรเพื่อการค้า”

ทั้งนี้ เฉพาะปีบัญชี 2567 ธ.ก.ส. ปลูกความรู้ด้านเกษตรให้นักเรียนทั่วประเทศไปแล้วกว่า 13,500 คน พร้อมขยายผลพวงไปถึงครอบครัวและชุมชน

สำหรับโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษากว่า 400 คน มีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติ จนสามารถประยุกต์การเกษตรเบื้องต้นโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีคุณภาพไปใช้ประกอบอาหารกลางวัน และนำไปจำหน่ายหารายได้ เช่น การปลูกผักผลไม้ไร้สารพิษ การเลี้ยงปลา และการเพาะเห็ดนางฟ้า

ระหว่างเยี่ยมชมโครงการคณะของ ธ.ก.ส. มีโอกาสสัมผัสกับโรงเรียนธนาคารและแปลงเกษตรต้นแบบ อย่างเช่น โรงเรือนเมล่อน โรงเรือนผักสลัด โรงเรือนเห็ดนางฟ้า และบ่อเลี้ยงปลาระบบปิด ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเป็นตัวควบคุม ลดปริมาณน้ำล้น บำบัดน้ำเสีย ถือเป็นการลดปัญหาใช้น้ำแบบสิ้นเปลือง

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ การยกระดับสินค้าเกษตรให้กับนักเรียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ก่อเกิด “ไอเดีย” สร้างสรรค์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าในอนาคต
พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมวงประกอบอาหารกับนักเรียน โดยหยิบใช้วัตถุดิบสดใหม่ที่เก็บเกี่ยวจากโรงเรือนมาปรุงอาหารด้วย

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุ เป้าหมายแรกเริ่มของโครงการเป็นไปเพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้มีความรู้ด้านการเกษตร จึงเข้าไปให้การสนับสนุน แต่จากนี้เตรียมยกระดับนอกเหนือการผลิตเพียงอย่างเดียวเป็นการเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่แลกเปลี่ยนกันในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำปศุสัตว์สมัยใหม่ การปลูกผัก ไปจนถึงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์หายาก

เนื่องจากในอนาคตอาจจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าปศุสัตว์ที่ใช้เพื่อการบริโภค กลายเป็นเกษตรเพื่อการค้าที่ต้องรู้ว่าจะประดิษฐ์แล้วจำหน่ายให้ใคร กระทั่งเรียนรู้ระบบโลจิสติกต่าง ๆ และการทำตลาดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งที่ระบบ “โลจิสติก” ดีมาก

“โรงเรียนมีข้อได้เปรียบ เพราะนักเรียนเปลี่ยนไปในแต่ละรุ่น แต่ว่าสามารถส่งต่อองค์ความรู้นำไปใช้หลังเรียนจบแล้ว หรือแม้กระทั่งครอบครัวนักเรียนก็ยังสามารถนำความรู้จากการเกษตรไปประกอบอาชีพเสริมได้” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

นับเป็นโครงการที่สร้างเมล็ดพันธุ์การเกษตรที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เมื่อการเรียนรู้และลงมือทำสิ่งเหล่านี้ สามารถกลายเป็นวิชาชีพติดตัว เปิดโอกาสให้นักเรียนที่อาจมีใจรักในการเกษตรได้มีประสบการณ์จริง และต่อยอดการพัฒนาที่มากขึ้น เพื่อเลี้ยงดูตัวเองไปจนถึงครอบครัวได้ในอนาคต