สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่า ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวถึงการที่สหรัฐเสนอข้อตกลง “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” ให้กับยูเครน ว่าเป็นข้อตกลงที่ “ไม่ต้องพิจารณาอะไรมากไปกว่านี้อีกแล้ว” เพราะ “ไม่มีหลักประกันทางความมั่นคงอะไรที่จะดีไปกว่า การได้ร่วมลงทุนกับประธานาธิบดีสหรัฐ”


วอลซ์กล่าวต่อไปว่า ชาวอเมริกัน “สมควรได้รับการชดใช้” และ “สมควรได้รับการตอบแทน” จากเงินมหาศาลที่ลงทุนไปกับสงครามครั้งนี้ หากประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ “จะเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดอย่างมาก” ทั้งนี้ ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า ชาวยูเครนทุ่มเทต่อสู้อย่างหนักกับรัสเซีย ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา แต่ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐคือผู้ที่แบกรับภาระมากที่สุดเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม เซเลนสกี กล่าวว่า “ไม่สามารถลงนาม” ในข้อตกลง “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” ที่จะเป็น “การจัดสรรแร่ธาตุหายาก” กับสหรัฐ เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่ “ไม่ใช่การปกป้องชาวยูเครนและผลประโยชน์ของยูเครนอย่างแท้จริง” และ “ต้องมีการศึกษาเงื่อนไขทางกฎหมายอย่างละเอียด” ว่าการลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอย่างไร


อนึ่ง สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของสหรัฐรายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวคือเอกสารที่นายสกอตต์ เบสเซนต์ รมว.การคลังสหรัฐ นำมามอบให้แก่เซเลนสกี ถึงที่กรุงเคียฟ เมื่อวสัปดาห์ที่แล้ว มีเนื้อหาสำคัญว่า รัฐบาลวอชิงตันต้องการแร่ธาตุหายากของยูเครนในสัดส่วน 50% และพร้อมส่งทหารเข้ามาดูแลทรัพยากรเหล่านั้น เมื่อรัฐบาลเคียฟลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัสเซีย


ด้านสหรัฐยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับท่าทีของเซเลนสกี แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กล่าวว่า ต้องการให้ยูเครน “จ่ายคืน” ความช่วยเหลือทั้งหมดที่รัฐบาลวอชิงตันเคยมอบให้ ในรูปแบบของแร่ธาตุหากยาก ที่มีมูลค่าเทียบเท่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17 ล้านล้านบาท).

เครดิตภาพ : AFP