เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่โถงอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา รพ.ศิริราช ศ.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ร่วมรับผู้ป่วยหญิงอายุ 36 ปี จาก จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งป่วยด้วยโรคอ้วนขั้นรุนแรงน้ำหนักตัวมากกว่า 300 กิโลกรัม ซึ่งได้รับการรักษาอาการเบื้องต้นที่ รพ.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) ปัจจุบันอาการคงที่ ทีม รพ.ศิริราชและรพ.สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้วางแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยรายดังกล่าวมารับการรักษาต่อที่ รพ.ศิริราช โดยได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลฉุกเฉินจากหน่วยกู้ชีพ “กู้ภัยอยุธยา” จาก จ.พระนครศรีอยุธยา มาที่ รพ.ศิริราช มี ผศ.นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ ประธานศูนย์โรคอ้วนเมตะบอลิสมศิริราช และอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล  พร้อมพ่อและแม่เดินทางมาพร้อมกับผู้ป่วยด้วย  เมื่อมาถึง รพ.ศิริราช เจ้าหน้าที่ได้นำเตียงผู้ป่วยไฟฟ้าที่รองรับน้ำหนักได้กว่า  500 กิโลกรัม มาเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นสู่หอผู้ป่วย เพื่อประเมินอาการ โดยผู้ป่วยอยู่ในลักษณะนอนคว่ำตลอดการเดินทางมายัง รพ.ศิริราช และใส่เครื่องช่วยหายใจ

ศ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า จากการประเมินอาการเบื้องต้น ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี สัญญาณชีพปกติ อาจจะมีอาการเหนื่อยเล็กน้อยจากการเดินทางที่ต้องนอนคว่ำ  โดยผู้ป่วยได้ใส่หน้ากากแรงดันเพิ่มออกซิเจนมาตลอดทาง ได้พูดคุยกับผู้ป่วยสามารถโต้ตอบได้ มีสีหน้ายิ้มแย้มและดีใจที่ได้เข้ามารักษาที่ รพ.ศิริราช ซึ่งทีมแพทย์ รพ.ศิริราชจะทำการรักษาอย่างดีที่สุด โดยความร่วมมือจากทีมแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพที่จะต้องวางแผนการรักษาให้ลุล่วง ทั้งนี้ รพ.มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไปมาแล้วจำนวนหลายราย โดยรายนี้ที่มีน้ำหนักเกิน 300 กิโลกรัมขึ้นไป  ถือเป็นรายที่ 2 ที่รพ.รักษา รายแรกเป็นผู้ป่วยชายน้ำหนักตัวมากกว่า 300 กิโลกรัม ที่เข้ารักษาเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ใช้ระยะเวลา 1 ปีสามารถลดน้ำหนักจนเหลือ 90 กิโลกรัม ปัจจุบันใช้ชีวิตได้ปกติทั้งยังลดภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ เหมือนได้ชีวิตใหม่


ด้าน ผศ.นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ กล่าวว่า ผู้ป่วยหญิงรายนี้มีภาวะอ้วนขั้นรุนแรง และมีภาวะผิดปกติด้านการหายใจ และหัวใจ เคยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่สามารถกู้สัญญาณชีพกลับมาได้ จึงต้องเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง โดยได้วางแผนการรักษาเป็น 2 ระยะ ระยะแรก 1-2 เดือนเป็นการประเมินอาการผู้ป่วยและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  จะมีการเจาะเลือดตรวจอย่างละเอียด เพื่อดูภาวะต่างๆ ของร่างกายเช่น ปอด หัวใจ รวมถึงประเมินการนอนหลับด้วย  ขณะเดียวกันจะต้องฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยให้แข็งแรงขึ้น พร้อมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกายภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถลดน้ำหนักได้ลงมาระดับหนึ่ง เบื้องต้นตั้งเป้าให้ลงมาได้ 50 กิโลกรัมเพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดในระยะที่ 2 โดยสามารถเริ่มผ่าตัดได้ตั้งแต่น้ำหนัก 250 กิโลกรัม เป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะและอาจจะมีการทำลำไส้เล็กให้สั้นลงบางส่วน เพื่อลดการดูดซึมอาหาร สามารถทำให้น้ำหนักของผู้ป่วยลดลงได้ โดยจะใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดซึ่งมีความแม่นยำและปลอดภัยสูง เนื่องจากผนังหน้าท้องของผู้ป่วยมีลักษณะหนา หลังจากการผ่าตัดคาดว่า น้ำหนักของผู้ป่วยจะลงอย่างต่อเนื่องใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 6-12 เดือน

ผศ.นพ.วรบุตร  กล่าวด้วยว่า สาเหตุของภาวะอ้วนมาจากหลายสาเหตุแต่ปัจจัยหลัก ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลในการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกายที่ไม่สมดุล  นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากฮอร์โมนที่ผิดปกติ และพันธุกรรม  ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ต้องประเมินหาสาเหตุ นอกจากพฤติกรรมแล้วจะมีปัจจัยจากฮอร์โมนหรือพันธุกรรมอย่างไรหรือไม่  นอกจากนี้ต้องมีการฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ป่วยด้วยเนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มที่มีภาวะอ้วนมักจะมีภาวะความเครียด ความไม่มั่นใจ การใช้ชีวิตในสังคม จะมีทีมจิตแพทย์ของทาง รพ.เข้าร่วมประเมินอาการและรักษาด้วย

ด้านนางปราณี สมจันทร์ แม่ผู้ป่วย ให้สัมภาษณ์ว่า ลูกสาวอ้วนมาแต่เด็กๆ แต่เมื่อก่อนยังเดินได้ เริ่มมีปัญหาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเคยเข้า รพ.เพราะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นห่วงมาก และรู้สึกดีใจมากที่ลูกสาวได้เข้ามารักษาที่ รพ.ศิริราช เพราะมั่นใจในทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ.