ต้องเรียกว่าเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด สำหรับ “พรรคประชาชน (ปชน.)” เพิ่งอกหักจากความพยายามในการผลักดัน แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(รธน.) มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อตั้งสภาร่าง (ส.ส.ร) จัดทำร่างรธน. ฉบับใหม่ เมื่อเจอกลเกมของ “พรรคเพื่อไทย(พท.)” โดยผลักดันให้ยื่นญัตติ เพื่อขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรธน.วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรธน. มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อกรณีอำนาจของรัฐสภาต่อการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรธน.มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรธน.ฉบับใหม่ ทำได้ก่อนการออกเสียงประชามติ สอบถามประชาชนหรือไม่

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคปชน. ได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นหนังสือลับจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอเชิญให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา กรณีอดีต 44 ส.ส. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112 พร้อมข้อความ ระบุ ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า การเข้าชื่อเสนอเพื่อแก้กฎหมาย มันจะเป็นความผิดได้อย่างไร ในเมื่ออำนาจนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. รวมถึงก็ไม่มีบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายที่ระบุว่า การเข้าชื่อเสนอเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้การหาเสียงของพวกเราอดีตพรรคก.ก. ก็มีการส่งให้กับคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ยืนยันในการทำหน้าที่ของพวกเราว่า ไม่มีทางที่จะผิดต่อมาตรฐานจริยธรรมอย่างแน่นอน

พร้อมทั้งระบุอีกว่า ได้รับหนังสือฉบับนี้ในวันมาฆบูชา ไม่แน่ใจว่า เป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ และหลังจากนั้น “นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข” ก็ได้รับการโปรดเกล้าเป็นประธาน ป.ป.ช. ก็ขอแสดงความยินดีด้วย หากคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะได้แจ้งให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบกันอีกที ส่วนตัวทราบดีว่าเวลาของผมคงจะมีอีกไม่มาก ระหว่างนี้ก็คงจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่

ขณะที่มีรายงานว่า ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ป.ป.ช. ได้ทยอยส่งข้อกล่าวหาให้ 44 ส.ส.แล้ว โดยแต่ละคนได้รับแจ้งไม่เหมือนกันตามฐานความผิดในชั้นสอบสวน

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรธน. เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 ที่ชี้ว่าการที่ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก.ก. เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขมาตรา 112 รวมถึงการใช้นโยบายแก้ไขมาตรา 112 หาเสียงเลือกตั้งปี 2566 และมีพฤติการณ์รณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 เรื่อยมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการปกครอง เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ

จากคำวินิจฉัยดังกล่าว “นายธีรยุทธ สุววรรณเกสร” ได้นำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงประกอบคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิด สส.พรรคก.ก. 44 คน ที่เข้าชื่อกันเสนอแก้ไขมาตรา 112 ฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ที่ใช้บังคับแก้ สส. ข้อ 5 ที่กำหนดว่า ต้องยึดมั่นและดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรธน.ข้อ 6 ที่กำหนดว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อ 27 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

สำหรับรายชื่อสส.ทั้ง 44 คน พรรคก.ก. ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ประกอบด้วย 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก.ก. 2.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี 5.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10.นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส. กรุงเทพมหานคร (กทม. )11.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.12.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก 14.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16.นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. 19.น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม

21.นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 22.นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23.นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. 24.นายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.สมุทรสาคร 25.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 26.นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี 27.นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 28.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29.นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 30.นายองค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 32.นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 33.นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด 34.นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 35.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 36.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 37.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 38.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิส.ส.บัญชีรายชื่อ 39.นายทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 40.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 41.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุลส.ส.บัญชีรายชื่อ 42.นายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ 43.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 44.นายสุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยจากจำนวนรายชื่อ 44 สส. ปัจจุบันยังเป็น สส.สังกัดพรรคปชน. จำนวน 25 ราย แบ่งเป็นสส.เขต 8 ราย ได้แก่ สส.บัญชีรายชื่อ 17 ราย ซึ่งพบว่ามีแกนนำคนสำคัญของพรรคปชน. ติดร่างแหด้วยคือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ในฐานะหัวหน้าพรรค น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้า ที่มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็น แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็มีบทบาทตรวจสอบเรื่องคอลเซ็นเตอร์ และประเด็นร้อนในเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่อง ซึ่งในวันที่ 27 ก.พ. พรรคปชน.ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ซึ่งเชื่อว่า ผลพวงจากการถูกแจ้งข้อกล่าวหา จะกระทบการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือไม่ ซึ่งในที่สุดต้องมาลุ้นจะมีใครถูกชี้มูลความผิด จะมีใครหลุดรอดข้อกล่าวหา และถ้าหาก นายณัฐพงษ์ ได้รับผลกระทบในเรื่องคดีความ ใครจะเข้ามารับไม้ในฐานะหัวหน้าพรรคปชน.คนต่อไป

โดยหลายคนที่ติดตามการเมือง จับตามองไปที่ “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก.ก. ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคนผลักดันเรื่องการแก้ไขรธน. ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นมากพอสมควร แต่ด้วยอายุเพียง 33 ปีปัญหาคือการตามรธน.ปี60 บุคคลเข้ารับตำแหน่งนายกฯและรัฐมนตรีต้องมีอายุ 35 ปี ซึ่งหากพรรคปชน.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากต้องเข้ามารับตำแหน่งสำคัญ จะมีข้อจำกัดทางการเมืองหรือไม่

ด้าน นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคปชน.ในฐานะอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. ให้สัมภาษณ์กรณีกรณีถูก ป.ป.ช. เชิญไปรับทราบข้อกล่าวหา ว่า กระทำการจงใจฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงกรณี เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ได้รับหนังสือเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาจากป.ป.ช.แล้ว ซึ่ง ป.ป.ช. บอกว่า ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 19 ก.พ. นี้ แต่ติดภารกิจวันประชุมสภาฯ ต้องขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ยืนยันว่าการแก้กฎหมายเป็นหน้าที่ สส. สามารถทำได้ เมื่อถามว่าการพิจารณาของ ป.ป.ช.จะแล้วเสร็จก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดือน มี.ค. หรือไม่ นายธีรัจชัย กล่าวว่า ป.ป.ช. คงใช้เวลาในการพิจารณานานพอสมควร เชื่อว่าเราจะได้อภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน และสำหรับตน เรื่องนี้ไม่ทำให้เสียสมาธิในการเตรียมการอภิปรายไม้ไว้วางใจ เนื่องจากพรรคเตรียมความพร้อม มีการตั้งทนายความเตรียมสู้คดีมานานแล้ว รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เตรียมความพร้อมเต็มที่มาตลอด สส.พรรคปชน. พร้อมต่อสู้

ส่วนประเด็นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(รธน.) มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จำนวน 2 ร่าง ที่เสนอโดยพรรคประชาชน(ปชน.) กับ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 13-14 ก.พ. ต้องล่มเป็นวันที่สองติดต่อกัน จนพรรคปชน.เรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ยุบสภาฯ นั้น “นายดนุพร ปุณณกันต์” สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคพท. (พท.) กล่าวว่า ถือเป็นทัศนคติที่เป็นพิษต่อระบบรัฐสภา พรรคการเมืองที่ไม่มีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะเลือกวิธีล้มกระดานเช่นนี้ กระบวนการให้ได้มาซึ่งกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นสิทธิหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ สส.ของแต่ละพรรคมีเอกสิทธิ์ที่จะออกสิทธิออกเสียง ส่วนการที่ สส.ของพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน ไม่เข้าร่วมประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพราะมีความกังวลว่าการพิจารณามาตรา 256 ในรธน. สส.ทำได้หรือไม่ จะมีความสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย และขัดคำวินิจฉัยศาลรธน.ที่ผ่านมาหรือไม่ เป็นความกังวลใจต่อการตีความในคำวินิจฉัยที่ผ่านมา ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นเอกภาพ หรือไม่เป็นเอกภาพอย่างที่ นายณัฐพงษ์ พยายามชี้นำสังคม

“เราใช้เวลาหลายปี กว่าจะได้มาซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากพลเรือนนำโดยพรรคพท. ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯให้ประชาชนเป็นโจทย์ใหญ่ในสมการเสมอ ประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง งานบริหารราชการแผ่นดิน กำลังเดินหน้าแก้ปัญหาที่หมักหมมมานับสิบปี และกำลังส่งผลดีกับประเทศ การยุบสภาในขณะที่การบริหารกำลังไปได้ดี ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนและงบประมาณจำนวนมหาศาล จึงไม่มีเหตุผลใดให้ต้องยุบสภา” นายดนุพร กล่าว

เชื่อว่าประเด็นการเสนอแก้ไขรธน. ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่าง พรรคพท. และ พรรคปชน.ไปอีกนานพอสมควร ยิ่งต่างฝ่ายมีแนวทางแตกต่างกัน พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ต้องการให้เดินหน้าแก้ไข ไม่ต้องรอถามศาลรธน. ส่วนพรรคพท.และพรรคร่วมรัฐบาล ต้องการความชัดเจนในข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา.

“ทีมข่าวการเมือง”