เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ (กฟผ.) ร่วมกับ ‘กระทรวงพลังงาน’ ‘กรมควบคุมมลพิษ’ ‘สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ’ (GISTDA) และ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศภายใต้โครงการ ‘Breathe Our Future: Space & Sensor Synergy’ หรือ ‘รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต’
ความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทั้งภาคพื้นดินและอวกาศ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเจาะลึกและครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อมอบอากาศบริสุทธิ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ประชาชน
‘สมภพ พัฒนอริยางกูล’ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับโลก อาทิ ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทดแทนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และการนำพลังงานชีวมวลมาใช้ผลิตไฟฟ้าแทนการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละออง
เพื่อให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงพลังงานได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการพัฒนานวัตกรรมตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือ Sensor for ALL เพื่อระบุแหล่งที่มาของฝุ่นละอองและนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และพัฒนานโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
ด้าน ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้า โดยมุ่งมั่นควบคุมคุณภาพอากาศจากกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้และดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งระบบบำบัดอากาศ และการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยลดมลพิษ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์มลพิษอย่างต่อเนื่อง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข กฟผ. จึงพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เพื่อหาแนวทางในการลดมลพิษทางอากาศและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทย
‘ปรีญาพร สุวรรณเกษ’ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเสริมว่า การป้องกันปัญหาฝุ่นละอองตั้งแต่ต้นทางเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้วกว่า 100 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 69 จังหวัดทั่วประเทศ และมีแผนขยายการติดตั้งให้ครบทุกจังหวัดภายในปี 2569 ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดจะถูกนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากภาคีเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในพื้นที่ของตน และสามารถวางแผนป้องกันตนเองได้อย่างเหมาะสม
ขณะที่ ‘กานดาศรี ลิมปาคม’ รองผู้อำนวยการ GISTDA เผยว่า GISTDA ได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในการติดตามตรวจสอบระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศแบบเรียลไทม์ ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถระบุแหล่งที่มาของฝุ่นและดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ GISTDA ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘เช็คฝุ่น’ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
‘รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์’ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว หนึ่งในโครงการสำคัญคือการพัฒนานวัตกรรมเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือ Sensor for ALL ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปีแล้ว โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศและเผยแพร่สู่สาธารณะ
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ GISTDA มีแผนที่จะบูรณาการข้อมูลจากเซ็นเซอร์ภาคพื้นดินและดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนต่อไป