ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ได้เป็นประธานเปิดป้าย “ศาลเจ้าพระลักษณ์ กวงเป่ยไห่โหง้ว ซานเป่าเหมี่ยว” ซึ่งเป็นศาลเจ้าโบราณ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่ภายในสวนกาญจนาภิเษก วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยศาลเจ้าพระลักษณ์นี้เป็นศาลเจ้าจีน มีอายุหลายร้อยปี มีป้ายไม้โบราณเป็นภาษาจีนอยู่ด้านใน ระบุปีที่สร้าง “เมื่อเดือน 12 ปีกุน ธาตุไม้ รัชสมัยจักรพรรดิเจียชิ่งราชวงศ์ชิง” ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 เชื่อกันว่า สร้างแทนศาลเจ้า “ซานเป่าเหมี่ยว” สมัยพระเจ้าทรงธรรมที่เคยตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน ศาลเจ้าจีนนี้ได้ผ่านการบูรณะซ่อมแซมโดยพี่น้องชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนมาโดยตลอด ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดปากน้ำทุกรูป ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้วยดี เพื่อสืบทอดรักษาศรัทธาของบรรพชน ให้ดำรงอยู่สิ้นกาลนาน

สำหรับประวัติ “ศาลเจ้าพระลักษณ์” เดิมมีชื่อภาษาไทยว่า “ศาลเจ้าพระรักษ์” ความเป็นมาของศาลเจ้าพระรักษ์นี้ ย้อนไปเก่าสุด ตามเอกสารจีนโบราณ เรียบเรียงโดย จังเชี่ย พ.ศ. 2160 ตรงกับสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงการเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา ต้องผ่านด่านตรวจเก็บภาษี 3 ด่าน ด่านแรกเป็นเขตพื้นที่ของ “เฉิงจิ้น” คือปากแม่น้ำท่าจีน ต.ท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร ด่านสองเป็นเขตพื้นที่ของ “บกอี๋” คือ ด่านขนอนธนบุรี ที่ตั้งอยู่บริเวณวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และด่านที่สามเป็นพื้นที่ของโปรตุเกสและญี่ปุ่น ที่ข้างวัดโปรดสัตว์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจังเซี่ยบันทึกว่า “ศาลเจ้าซานเป่า อยู่บริเวณด่านที่ 2 บูชาขันทีเจิ้งเหอ”
“ศาลเจ้าพระรักษ์” ได้สร้างแทนศาลเจ้าซานเป้าหลังเดิม เมื่อ พ.ศ. 2358 ตามป้ายภาษาจีนโบราณภายในศาล ที่มีความหมายถึงเทพเจ้าผู้คุ้มครองชาวเดินทะเล คือ เจ้าแม่ทับทิม และมหาขันทีซานเป่า ระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยพระจักรพรรดิเจียชิ่งแห่งราชวงศ์ชิง ในปีหมู ธาตุไม้ เดือนสิบสอง (210 ปีที่แล้ว) และมีการบูชาที่ศาลเจ้าสืบกันตลอดมา

พ.ศ. 2492 เหมา เจ๋อตง ประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปีนั้นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีคำสั่งให้สอดส่องชาวจีน ให้ปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ จึงได้มีการปรับแปลงศาลเจ้าพระรักษ์ จากทรงจีนให้เป็นทรงไทย ไม่ใส่อักษรจีนที่ป้ายหน้าศาล และแปลงชื่อจาก “ศาลเจ้าพระรักษ์” เป็น “ศาลเจ้าพระลักษณ์” เพื่อไม่ให้เป็นที่เพ่งเล็งของทางราชการ โดยในหนังสือทำเนียบทะเบียนศาลเจ้าของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2542 ยังปรากฏชื่อ ศาลเจ้าพระลักษณ์ ระบุที่อยู่ว่า ถนนเพชรเกษม แขวงปากคลองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยเล่มหลังระบุว่ามีนายถนอม ทรงสาระ เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า ขณะที่ในหนังสือศาลเจ้าศรัทธาสถานแห่งบางกอก ของสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2559 ไม่ปรากฏชื่อ “ศาลเจ้าพระลักษณ์” ในความรับรู้ของนักวิชาการแล้ว และในหนังสือทำเนียบศาลเจ้า 100 ปี ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2563 ก็ไม่ปรากฏชื่อ “ศาลเจ้าพระลักษณ์”
นอกจากนี้ ศาลเจ้ายังเกิดไฟไหม้พื้นศาลด้านใน ทั้งยังมีคนนำตุ๊กตากุมารทอง ของเล่น และกระดูกคนตาย มาทิ้งไว้ในศาล ทำให้คนไม่รู้จักศาลเจ้าจีนที่เคยบูชามหาขันทีเจิ้งเหอ หรือ ซานเป่ากง ที่ชาวพุทธมหายานนับถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง

ต่อมา พ.ศ. 2563 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธา ได้ทำการบูรณะ “ศาลเจ้าพระลักษณ์” ใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูพื้นและบุผนังด้วยหินอ่อน และได้มีนิมิตเห็นผู้ดูแลศาลเจ้าในสมัยก่อน จึงได้ให้ช่างหล่อรูปตั้งไว้ในศาล และ พ.ศ. 2568 พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ มีดำริฟื้นฟู “ศาลเจ้าพระลักษณ์” ให้เป็นที่รู้จัก ตามที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานโบราณ เพื่อเป็นการระลึกถึงครบรอบ 402 ปี แห่งหนังสือ ตงซีหยังเข่า และครบรอบ 210 ปีของป้ายไม้โบราณภายในศาล เพื่อสืบสานภูมิปัญญา และความกตัญญูกตเวทีของบรรพบุรุษ ต่อบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาให้ปรากฏสืบไป