วานนี้ (13 ก.พ. 2568) ผู้ใช้อินสตาแกรมในชื่อของ “เมาท์เอเวอเรสต์ออฟฟิเชียล” (mounteverestofficial) ได้โพสต์ข้อความและภาพแผนที่แสดงจุดพบศพของบรรดานักปีนเขาที่หวังจะพิชิตยอดเขาแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึก
นักปีนเขามากกว่า 330 คนเสียชีวิตระหว่างพยายามฝ่าฟันอุปสรรคที่โหดร้ายของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกซึ่งมีความสูง 8,848.86 เมตร ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัดและปริมาณออกซิเจนที่เบาบาง
แผนที่ที่มีที่มาจากเว็บไซต์ Pointofnoreturn.org แสดงจุดที่มีผู้เสียชีวิตจากการพยายามปีนขึ้นไปถึงยอดเขามากกว่า 330 รายนับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกในปี ค.ศ. 1921

นอกจากนี้ แผนที่ยังแสดงให้เห็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดบนยอดเขาเอเวอเรสต์ที่เรียกว่า “เขตมรณะ” (Death zone) ซึ่งเริ่มต้นที่ระดับความสูง 8,000 เมตรขึ้นไป
ที่ความสูงระดับนี้จะมีปริมาณออกซิเจนเพียงหนึ่งในสามของอากาศในระดับปกติ ซึ่งมักนำไปสู่อาการแพ้ความสูง มีภาวะขาดออกซิเจนและเสียชีวิต นักปีนเขาจำนวนมากพ่ายแพ้แก่สังขารตัวเอง เกิดอาการมึนงง อ่อนเพลีย หรือมีอาการป่วยอื่นๆ อันเนื่องมาจากการอยู่ในพื้นที่สูง
ข้อความที่โพสต์ควบคู่กับภาพแผนที่มรณะนี้ระบุว่า “การทำแผนที่จำนวนผู้เสียชีวิตบนเอเวอเรสต์เผยให้เห็นถึงเขตอันตรายที่ชัดเจน ได้แก่ เส้นทางคุมบูไอซ์ฟอลล์สุดอันตราย หน้าผาโลตเซที่สูงชัน และก้อนหินใหญ่ฮิลลารี สเต็ปอันเลื่องชื่อ ซึ่งอยู่ตรงจุดก่อนถึงยอดเขา”

“ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 1970 เนื่องจากนักปีนเขาจำนวนมากขึ้นพยายามปีนขึ้นไป ส่วนปัจจุบัน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ใกล้กับยอดเขา” ข้อความบรรยายอย่างต่อเนื่องถึงข้อมูลจากแผนที่ “ด้านชาวเชอร์ปาซึ่งปรับตัวให้เข้ากับระดับความสูงได้ดีกว่า มักจะเสียชีวิตในระดับความสูงที่น้อยกว่า ในขณะที่นักปีนเขาชาวต่างชาติมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตใกล้กับยอดเขามากกว่า”
แต่ทั้งที่เป็นเส้นทางแสนอันตราย ผู้คนมากกว่า 7,200 คน ก็ยังตั้งใจจะปีนขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์และทำสำเร็จอย่างน้อยคนละหนึ่งครั้ง
อย่างไรก็ตาม เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี นักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะบุคคลแรกที่ปีนสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1953 ร่วมกับเทนซิง นอร์เกย์ คู่หูชาวเชอร์ปา กลับแสดงความเห็นเกี่ยวกับความไร้น้ำใจของนักปีนเขาที่ไม่สนใจนักปีนเขาคนอื่นๆ เมื่อคนเหล่านั้นต้องการความช่วยเหลือ
เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ เฮรัลด์ว่า “หากคุณมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก และคุณยังคงแข็งแรงและมีพลัง คุณก็มีหน้าที่ที่จะต้องทุ่มเททุกอย่างที่ทำได้เพื่อพาเขาลงมา ส่วนการไปถึงยอดเขานั้นควรเป็นเรื่องรองลงมา ผมคิดว่าภาพรวมของทัศนคติเกี่ยวกับการปีนเขาเอเวอเรสต์นั้นน่ากลัวมาก ผู้คนต้องการแค่ไปให้ถึงยอดเขาเท่านั้น พวกเขาไม่สนใจใครเลยที่อาจตกอยู่ในความยากลำบาก และผมไม่ได้รู้สึกประทับใจเลยที่พวกเขาปล่อยให้ใครสักคนนอนตายอยู่ใต้ก้อนหิน”
ที่มา : ladbible.com
เครดิตภาพ : pointofnoreturn.org, Martin Jernberg on Unsplash