เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 ที่ท่าเรือแหลมเทียนกลางท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2568 ซึ่งมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ พร้อมกำลังพลที่เข้ารับการฝึก เข้าร่วมในพิธี
โดย พล.ร.อ.จิรพล กล่าวเปิดพิธีว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2568 ในครั้งนี้ กองทัพเรือจัดให้มีการฝึกเป็นประจำทุกปี เพื่อให้กำลังพลกับหน่วยต่าง ๆ ได้มีโอกาสไปร่วมกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามสาขาการปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้งระดับยุทธการ และยุทธวิธี เพื่อทดสอบความสามารถให้ตรงตามความต้องการทางยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ และเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ให้มีความพร้อมในการรับสถานการณ์และภัยคุกคามในทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.ร.อ.จิรพล กล่าวอีกว่า ตนจึงขอให้ผู้เข้าร่วมการฝึกทุกนาย มุ่งมั่น ตั้งใจในการฝึก เรียนรู้เทคนิคและประสบการณ์ รวมทั้งขอให้นำบทเรียนที่ได้รับจากการฝึกไปใช้ในการปฏิบัติงานในหน่วยของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดและดำรงจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความชำนาญสู่ความเป็นสากล เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของกองทัพเรือในการเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาค และเป็นเลิศในการบริหารจัดการ เพื่อส่งมอบมูลค่าให้แก่ประชาชนและสังคม โดยเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

จากนั้น พล.ร.อ.จิรพล ได้ร่วมสังเกตการณ์การสาธิตการปฏิบัติการทางเรือและอากาศยาน และเยี่ยมชมการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกกองทัพเรือในปีนี้ และการฝึกกองทัพเรือประจำปีถือเป็นการฝึกที่มีความสำคัญสูงสุดของกองทัพเรือ โดยใช้แนวความคิดในการฝึกว่า “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” ซึ่งในปีนี้เป็นการฝึกป้องกันประเทศโดยกำหนดสถานการณ์ตั้งแต่ในขั้นปกติสถานการณ์วิกฤติไปถึงขั้นป้องกันประเทศ ซึ่งมีการทดสอบและสร้างความคุ้นเคยทางด้านแนวความคิดหลักการ หลักนิยมไปจนถึงขีดความสามารถของกำลังรบในแต่ละประเภทโดยส่วนต่าง ๆ ของกองทัพเรือทั้งในกองอำนวยการฝึก และหน่วยรับการฝึกทุกหน่วยได้มีการเตรียมและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอย่างเต็มกำลังความสามารถ
โดยนำวัตถุประสงค์การฝึกและหัวข้อการทดสอบที่กองทัพเรือกำหนด ไปกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะตามภารกิจของหน่วย และนำไปทดสอบในการฝึกปัญหาที่บังคับการ และการฝึกภาคสนาม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายคำสั่งและวัตถุประสงค์การฝึกที่ได้กำหนดไว้ต่อไป สำหรับการฝึกในปีนี้ได้ทำการฝึกแผนป้องกันประเทศ ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 2 ประกอบด้วย 1.การฝึกปัญหาที่บังคับการ และ 2.การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล โดยในส่วนของการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเลในปีนี้ มีหัวข้อการฝึกที่สำคัญคือ การฝึกปฏิบัติการทางเรือของกองเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกลที่ 72 ซึ่งมีการจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกประกอบด้วย เรือหลวงช้าง เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงสุรินทร์ และเรือหลวงมันใน เป็นหมู่เรือลำเลียง โดยมีเรือหลวงนเรศวร เรือหลวงเจ้าพระยา และเรือหลวงกระบุรี ประกอบกำลังเป็นหมู่เรือคุ้มกัน ร่วมด้วยกำลังจากอากาศยานนาวีกำลังรบยกพลขึ้นบกและกำลังสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากนั้นจะมีการฝึกที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ ของเรือหลวงจักรีนฤเบศร การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือและกองทัพอากาศ การฝึกปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การฝึกต่อต้านการก่อการร้ายบนแท่งผลิตก๊าซธรรมชาติ การฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ในทะเล การฝึกเป็นหน่วยกรมผสมนาวิกโยธิน และการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง การฝึกของหน่วยวิชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่และการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี โดยมีการเชิญกำลังพลจากกองทัพบกกองทัพอากาศรวมถึงศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้
หลังเสร็จสิ้นร่วมสังเกตการณ์การสาธิตดังกล่าว พล.ร.อ.จิรพล ให้สัมภาษณ์ถึงขอบเขตการฝึกของกองทัพเรือในปี 2568 ว่า เราเน้นแผนป้องกันประเทศเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนของฝ่ายบริการและส่งต่อมาให้หน่วยใช้กำลังให้ได้ใช้แผนตามที่วางไว้ แต่ว่าเราไม่ได้ฝึกครบทั้งหมดเพราะฉะนั้นในการฝึกภาคสนามก็จะเลือกฝึกเป็นบางฉาก อีกทั้งฝึกกำลังพลให้คุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือที่กองทัพทำงาน ไปช่วยรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนหรือการแก้ภัยพิบัติต่างๆ เพื่อที่จะให้เห็นภาพว่าอุปกรณ์ทั้งหมดที่เรามีสามารถทำงานได้สองรูปแบบ ทั้งในรูปแบบการรบและทุกรูปแบบการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งรูปแบบภัยพิบัติ

เมื่อถามว่าภัยคุกคามในปัจจุบันเป็นในรูปแบบของไซเบอร์จะมีจัดการปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า ในเรื่องของไซเบอร์เราได้มีหน่วยที่เราฝึกไว้ และมีการสแกนเน็ตเวิร์กของเราเองอยู่ตลอด เพื่อตรวจหาช่องโหว่ แต่รูปแบบของทางรุกนั้น ตนคงจะเปิดเผยไม่ได้เนื่องจากข้อมูลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีการฝึกในเรื่องนี้อยู่ทุกปีเช่นกันโดยจะเป็นการหาเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือการป้องกัน เพราะทุกหน่วยปัจจุบันใช้ในเรื่องของอินเทอร์เน็ตและระบบเครือข่ายทำงานกันโดยเฉพาะงานทางเอกสารและธุรการ ในส่วนงานทางการรบ ระบบเครือข่ายค่อนข้างที่จะเจาะยาก เพราะเป็นเครือข่ายปิดไม่ได้เปิด แต่ทางเราก็ไม่ได้ไว้วางใจ และได้มีการฝึกหาในการปิดช่องโหว่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ
ผู้สื่อข่าวถามว่าในแง่ของข้อจำกัดของกองทัพเรือ ที่อาจจะมองว่ามียุทโธปกรณ์ที่อาจจะใช้งานมานาน จะมีการปรับข้อจำกัดในส่วนนี้ให้รับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่หรือไม่ พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า ในส่วนยุทโธปกรณ์เป็นไปตามระยะเวลา ส่วนยุทโธปกรณ์เก่า ๆ พยายามใช้งานจนกระทั่งและดูแลรักษาจนหมดอายุ ส่วนอุปกรณ์ตามเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ ๆ หน่วยก็ต้องมีการปรับวิธีคิดและยุทธวิธีของหน่วย เช่น แต่ละหน่วยก็กำลังหาวิธีการใช้งานโดรนทั้งในเรื่องของการตรวจการณ์ และศึกษาในเรื่องของโดรนโจมตี อาจจะมีการปรับโครงสร้างของหน่วยเพื่อรองรับยุทโธปกรณ์สมัยใหม่นี้เข้ามา ปัจจุบันเรามีหน่วยที่วิจัยและพัฒนาโดรน โดยในปีนี้จะมีการทดสอบการใช้งาน และที่สำคัญเรามียานเกราะล้อยางที่เพิ่งได้รับมาใหม่ปีนี้ได้มีการทดสอบใช้งานใช้จริงในเรื่องของการยกพลขึ้นบกหรือว่าการช่วยเหลือประชาชนว่าจะมีการดัดแปลงวิธีการใช้อย่างไร และหาจุดอ่อนหรือจำเป็นที่ต้องปรับปรุงในส่วนไหนก็จะมีการบอกผู้ผลิตให้ทราบ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายเพราะแหล่งผลิตอยู่ที่ในประเทศเรา

เมื่อถามอีกว่าเป็นยานเกราะที่มาจาก บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด (ชัยเสรี) ที่มีการจัดหาอยู่ใช่หรือไม่ พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า เรามีหลายเจ้าแต่ปัจจุบัน บริษัท ชัยเสรี ได้ผลิตมา 7 คัน และได้รับมอบเมื่อปี 2567 และได้มีการฝึกใช้งานและตรวจสอบว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดเราก็จะปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่าความคืบหน้าในการจัดซื้อเรือฟริเกต มีการหารือเพิ่มเติมหรือไม่ พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการของบประมาณ ในส่วนของกองทัพเรือได้มีการเสนอเอกสารเป็นทางการไปยังบริษัทต่าง ๆ ใช้เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะ (อาร์เอฟไอ) ให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาให้ข้อมูลกับเรา ว่าสามารถทำในสิ่งที่เราอยากได้หรือไม่ เช่น แบบเรือตรงความต้องการหรือไม่ รวมถึงการสร้างเรือ เราอยากให้อุตสาหกรรมภายในประเทศมีส่วนร่วมมากขึ้น และส่วนสุดท้ายคือนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการซื้อยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูง และต้องมีผลตอบแทนกลับมาในประเทศมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของเรือดำน้ำที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีขั้นตอนผลักดันอย่างไรบ้าง พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพเรือมีความชัดเจนว่าต้องการทำให้สัญญาจบ โดยการเสนอขอเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปที่ ครม. แต่อำนาจการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์นั้นถ้าอยู่ในกองทัพเรือก็ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว แต่อำนาจไม่ได้อยู่ที่กองทัพเรือจึงต้องขออนุญาตจากทาง ครม.ในการตัดสิน พอเรื่องที่ดำเนินการไปถึง ครม. ทางรัฐมนตรีก็ต้องศึกษา และมาขอข้อมูลเพิ่มเติมในบางเรื่อง และเตรียมข้อมูลรวมถึงรอคำตอบจากต่างประเทศว่าข้อมูลนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าได้ข้อมูลที่ซัพพอร์ต และสนับสนุนก็อยู่ที่รัฐมนตรีที่จะตัดสินใจว่าจะนำเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อใด
เมื่อถามอีกว่ายืนยันจะผลักดันและเดินหน้านำเรือเข้าประจำการให้ได้ใช่หรือไม่ พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า สัญญาได้มีการดำเนินการไปแล้ว และกองทัพเรือได้ตรวจสอบแล้วว่า จะทำอย่างไรให้สัญญาจบ โดยต้องคำนึงว่าเครื่องยนต์ที่จะเปลี่ยนมีขีดความสามารถหรือไม่ ในระดับกองทัพเรือได้มีการเตรียมการไว้แล้ว ขณะนี้ก็ต้องมาดูว่าในระดับ ครม. จะมีความเห็นด้วยหรือไม่
เมื่อถามต่อว่ากรณีเรือฟริเกตจะตกผลึกเมื่อไหร่ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า เรือฟริเกต เราได้ประกาศตกผลึกแล้วว่าในช่วงต้น เราได้ตั้งโครงการไว้ 2 ลำ ซึ่งอยู่ที่ ครม. ว่าจะอนุมัติให้เรามากน้อยแค่ไหน ส่วนรูปแบบของเรือ เราได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจะได้รู้ว่าเรือจะออกมาในรูปแบบใด และมีสัดส่วนในการต่อเรือในประเทศมากน้อยเท่าไหร่
เมื่อถามอีกว่า สถานการณ์ชายแดนที่อาจจะมีกาสิโนในพื้นที่กองกำลังจันทบุรี ตราด รวมถึงในพื้นที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายการค้ามนุษย์อีกด้วย กองทัพเรือจะดำเนินการอย่างไรบ้าง พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า ในเรื่องนี้เป็นส่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการซีลชายแดนหรือซีล สต็อป เซฟ เรื่องนี้แต่ต้องใช้ความร่วมมือเพราะกองทัพเรือทำงานหน่วยเดียวไม่ได้โดยต้องผลึก กำลังจากทหาร ตำรวจและภาคประชาชนรวมทั้งฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานในพื้นที่ก็ต้องช่วยร่วมมือกัน
เมื่อถามต่อว่าหน่วยในพื้นที่ได้มีการแจ้งหรือประสานงานมาว่าขาดแคลนในเรื่องใดหรือไม่ พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า ปัจจุบันในเรื่องของอุปกรณ์เราได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ตนขอย้ำว่าในยุคสมัยใหม่การใช้เทคโนโลยีที่ดีจะสามารถลดการตรวจการณ์และเพิ่มการตรวจการณ์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การใช้โดรน หรือกล้องส่องกลางคืน จะสามารถให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น แล้วจะสามารถดูแลพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม
เมื่อถามว่าการฝึกในปีนี้ต่างจากการฝึกปีอื่นอย่างไร พล.ร.อ.จิรพล กล่าวว่า เราเอาอุปกรณ์ที่เราได้จ่ายพัฒนาและนำอุปกรณ์ที่รับมาเพิ่มใหม่เข้ามาใช้งาน ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้งานว่ามีความเหมาะสมหรือต้องปรับปรุงอย่างไร ส่วนในเรื่องของการยิงอาวุธที่เรายังไม่เคยได้ลองยิงก็จะผลักดันให้มีการฝึกให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้อาวุธ