เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่กระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยมีนายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวรายงาน นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานศึกษาต่างๆ ร่วม โดยนายอารี กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย “ปี 2568 เป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว” ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค จึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกมิติ เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยมี GDP เพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาการศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาทักษะแรงงานทั้งอัพสกิล รีสกิลอยู่แล้วได้ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กว่า 100,000 คน กระจายไป 62 จังหวัด
ด้านนายเดชา กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานที่ทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น กลุ่มพนักงานในโรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และกลุ่มแรงงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น แม่ค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ แบ่งเป็น 3 หลักสูตรได้แก่ การฝึกอบรมท่องเที่ยวและบริการหลักสูตร 18 ชั่วโมง จำนวน 3,000 รุ่น รุ่นละ 20 คน รวม 60,000 คน โดยการฝึกอบรมแบบ Online จำนวน 2 วัน แบบ Onsite จำนวน 1 วัน และการฝึกอบรมท่องเที่ยวและบริการหลักสูตร 30 ชม. จำนวน 500 รุ่น รุ่นละ 20 คน รวม 10,000 คน เมื่อฝึกเสร็จแล้วจะมีการแมชชิ่งงานให้ด้วย ทั้งนี้ ในส่วนค่ารายได้นั้นยืนยันว่ามากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่มากแน่นอน เพราะงานด้านบริการการท่องเที่ยวถือเป็นงานทักษะ ยิ่งเมื่อรวมค่าทริปแล้วยิ่งได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถตอบเป็นตัวเลขได้ว่าอย่างต่ำแล้วจะได้ต่อเดือนเท่าไหร่
ด้าน รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อุตตมากร ผู้จัดการโครงการ กล่าวต่อว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการหาข้อมูล และวิเคราะห์เพื่อค้นหาหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ รวมไปถึงสิ่งที่แรงงานขาดทักษะในการทำงาน จนได้มาเป็น 10 หลักสูตร ทั้งนี้ปัจจุบันเรามีแรงงานที่ทำงานในภาคบริการการท่องเที่ยวประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แปลว่าเรายังต้องการแรงงานทางด้านนี้อีกจำนวนมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 1 แสนคน ส่วนที่ถามว่า ในจำนวนแรงงาน 30 เปอร์เซ็นต์ที่ทำงานอยู่นั้น จะเป็นแรงงานไทยจริงๆ หรือแรงงานต่างด้าวมากกว่ากันนั้น ตนไม่ทราบ แต่สำหรับการพัฒนาศักยภาพแรงงานรอบนี้ถึงบอกว่าเราจะเน้นแรงงาน 3 กลุ่ม คือ นักศึกษาที่ใกล้จบการศึกษา ผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานในระบบอยู่แล้ว จะสามารถตรวจสอบได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะทิ้งแรงงานนอกระบบ
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เดิมเรามีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการเราก็ขาดแคลนอยู่แล้ว โดยในช่วงก่อนโควิดจะมีแรงงานอยู่ราวๆ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ถือว่าขาดแคลนอยู่แล้ว พอเจอโควิด แรงงานกลุ่มนี้ก็หายออกไปเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโต ทั้งของไทยและของภูมิภาค แต่เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอร์รัม จัดอันดับประเทศไทยมีการพัฒนาศักภาพทางด้านการท่องเที่ยวน้อย อยู่ที่อันดับ 47 ของโลก หรืออันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ทรัพยากร และสิ่งอำนวยความสะดวกของไทยอยู่ในระดับที่ดี แต่สิ่งที่เราขาดคือเรื่องของทักษะ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านนี้เพื่อป้อนตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฝึกอบรมจะมีแบบออนไลน์ 3 วัน ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting เมื่อเข้าอบรมครบตามวันที่กำหนดแต่ละหลักสูตร จะสามารถเข้าเรียนในสถานที่จัดอบรม (Onsite) ในแต่ละจังหวัด อีก 2 วัน สำหรับหลักสูตรประกอบไปด้วย 10 หลักสูตร ดังนี้ 1. หลักสูตรภาพสวย สร้างรายได้ : การถ่ายภาพระดับมืออาชีพสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ หลักสูตร 18 ชั่วโมง 2.เว็บไซต์สวย ธุรกิจปัง : สร้างหน้าต่างดิจิทัลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการแบบมือโปร หลักสูตร 30 ชั่วโมง
3.SEO Odyssey : ปั้นธุรกิจท่องเที่ยวสู่จุดหมายบนโลกออนไลน์ หลักสูตร 18 ชั่วโมง 4.ท่องเที่ยวโซเชียล พิชิตใจนักเที่ยว : ปั้นแบรนด์ท่องเที่ยวให้ดังทะลุฟ้า หลักสูตร 18 ชั่วโมง 5.อัพเกรดรายได้ : ศิลปะการบริหารเงินสดสำหรับโรงแรมขนาดเล็ก หลักสูตร 30 ชั่วโมง
6.ปฏิวัติรายได้ร้านอาหาร : กลยุทธ์ทางการเงินเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน หลักสูตร 30 ชั่วโมง 7.ยกระดับวงการสปา : สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประสบการณ์สุดพิเศษ หลักสูตร 30 ชั่วโมง 8.เจาะลึกเสียงลูกค้า ปั้นกลยุทธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว : ศาสตร์แห่งการรับฟังโซเชียลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หลักสูตร 18 ชั่วโมง 9.ปลดล็อกอนาคตการท่องเที่ยวด้วยพลังแห่งการพยากรณ์ข้อมูล หลักสูตร 18 ชั่วโมง 10.ปฏิวัติธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยพลังการวิเคราะห์ข้อมูลและการแบ่งส่วนตลาด หลักสูตร 18 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ ในรูปแบบ e-learning ระยะเวลา 30 ชั่วโมง จำนวน 30,000 คน ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ จะได้รับใบประกาศ CEFR จากสถาบันภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้เข้าอบรมตามกรอบมาตรฐานสากล (Common European Framework of Reference for Languages – CEFR) ซึ่งสามารถเป็นสิ่งการันตีทางด้านภาษาได้อีกด้วย
สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Upskill Reskill ยกระดับแรงงานท่องเที่ยวไทย DSD – TU https://www.facebook.com/profile.php?id=61573007974865 รับสมัครตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 68 เป็นต้นไป