เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ปรากฏว่าในช่วงวาระการพิจารณาเรื่องด่วน ต่อญัตติที่เสนอโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่ขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อกรณีอำนาจของรัฐสภาต่อการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำได้ก่อนการออกเสียงประชามติสอบถามประชาชนหรือไม่

ซึ่งผลการลงมติว่าจะเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ซึ่งผลปรากฏว่าที่ประชุมมี มติไม่ควรเลื่อน 275 ต่อ 247 เสียง

จากการตรวจสอบเอกสารการโหวต พบว่าเสียงที่ “ไม่ให้เลื่อน” นั้น พบว่ามี พรรคประชาชน เป็นกลุ่มหลัก รวมกับ พรรคเป็นธรรม และสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า มี สว. ถึง 136 เสียง ที่ลงมติสนับสนุนด้วย ขณะที่ สว. ที่เห็นด้วย มี 35 เสียง ซึ่งรวมถึง นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา และ สว. ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติ เช่น นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายเศรณี อนิลบล นายยุคล ชนะวัฒปัญญา เป็นต้น

ขณะที่เสียง สว. ที่ลงมติไม่เห็นด้วย มี 136 เสียง อาทิ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ซึ่งรวมถึง นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงษ์ สว. ที่แจ้งกับที่ประชุมรัฐสภาว่าจะไม่ขอร่วมสังฆกรรม ขณะที่ สว. 26 คน ที่ไม่ปรากฏการลงคะแนน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เห็นด้วยให้เลื่อน อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกล้าธรรม พรรคชาติไทยพัฒนา 4 เสียง พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาชาติ  7 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 2 เสียงเห็นด้วย พรรคไทยสร้างไทย ไม่เห็นด้วย 1 เสียง

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาวาระแก้รัฐธรรมนูญนั้น พบว่ามีผู้ที่ออกเสียงเห็นด้วยกับการเลื่อนญัตติ 1 คน คือ นายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ 1 เสียง คือ น.ส.กาญจนา จังหวะ สส.ชัยภูมิ ซึ่งทั้ง 2 คน คือ สส.งูเห่า ของแต่ละพรรค

นอกจากนี้ ในผลการลงมติเพื่อแสดงตนเป็น องค์ประชุม ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ มีผู้แสดงตนเพียง 204 คน จากที่ต้องใช้องค์ประชุม 346 เสียง จนทำให้สภาล่ม องค์ประชุมไม่ครบ จนต้องปิดการประชุมลงทันที

จากการสำรวจเอกสารการโหวต พบว่า พรรคเพื่อไทย มี สส. จำนวน 141 คน มีผู้แสดงตนเพียง 22 คน เช่น นายชลน่าน ศรีแก้ว นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ นายสรวงศ์ เทียนทอง นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ นายสุทิน คลังแสง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน มีเพียง 5 คนที่แสดงตน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายยูนัยดี วาบา นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ส่วนพรรคชาติพัฒนา ที่มี สส.3 คน มีผู้แสดงตนคนเดียวคือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล  

นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทย ที่มี ส.ส. 69 คน ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมตามที่ได้ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมในวาระพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคร่วมรัฐบาลยังมีพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ไม่มาแสดงตนทั้งพรรค

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน สส. 20 คน ของพรรค ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมทั้งพรรค ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย มี สส. 6 คน แต่มีผู้แสดงตนเพียงคนเดียวคือ นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด ขณะที่นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิต สส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า ไม่แสดงตนในการร่วมประชุมวันนี้ด้วย

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา 199 คน มีผู้ร่วมแสดงตน 32 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น สว.พันธุ์ใหม่ และ สว.กลุ่มอิสระ เช่น นางนันทนา นันทวโรภาส นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย นางอังคณา นีละไพจิตร นายอภินันท์ เผือกผ่อง รวมถึงนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ร่วมแสดงตนด้วย.