การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  “ไม่ผ่านแน่”  เพราะ สส. และ สว. ล้วนออกมาประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกัน “ผ่านยาก”   เพราะ อาจมีคนไม่กล้าโหวต เพราะเมื่อไม่ชัดเจนเรื่องทำประชามติ ก็เสี่ยงถูกร้องผิด ป.อาญา ม.157 และร้องเรียนจริยธรรมตามมา  

ซึ่งทางฝ่าย สว.ก็เริ่มแสดงท่าทีตั้งแต่ก่อนประชุมว่า “ไม่น่าจะโหวตรับ” เช่น นายเศรณี อนิลบล สว. ไปร่วมลงชื่อในญัตติเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “จะทำประชามติเมื่อไร กี่ครั้ง” เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ต้องทำประชามติก่อนแก้ ม.256 หรือแก้เสร็จแล้ว ผ่านวาระสามถึงทำก่อนทูลเกล้าฯ 

ซึ่งนักการเมืองขยาดเรื่องจริยธรรมมาก เพราะสามารถตีความได้กว้าง สุ่มเสี่ยงจะทำให้ขาดคุณสมบัติและพ้นจากตำแหน่ง ฝ่ายการเมืองต้องยึดจริยธรรมตาม มาตรา 219 ซึ่งเป็นของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ถ้าขัดก็จะถูกตีความขาดคุณสมบัติตาม ม.160 ( 4 ) เช่นที่นายเศรษฐา ทวีสิน หลุดเก้าอี้นายกรัฐมนตรี มาแล้ว 

การยุบพรรค การตัดสิทธิ์ทางการเมืองโหดร้ายเกินไป และยังมีการเขียนบางมาตรา เช่น มาตรา 49 ที่เขียนเรื่อง “ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง”แบบหลวมเกินไป เปิดช่องตีความได้กว้างและทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง อีกทั้งเรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระ ไม่ยึดโยงกับประชาชนพอ และการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจขั้วตุลาการก็ยาก

ขณะที่ฝ่ายค้านอย่าง “เท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ปชน.) เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และย้ำว่า “เป็นเรื่องที่รัฐบาลเคยประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว” และร่างของพรรค ปชน. ยังเปิดช่องให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเข้ามาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ได้

ถึงแม้จะเรียกร้องว่า “เป็นนโยบายของรัฐบาล” แต่ไม่ได้กำหนดว่า ต้องเริ่มในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรรอบนี้ ทางออกบนความลังเล ที่ดูจะเจ็บตัวน้อยที่สุดคือการใช้เสียง สว. เพราะการจะโหวตผ่านรัฐธรรมนูญวาระแรก ต้องใช้เสียง สว. 1 ใน ของสมาชิกที่มีอยู่คือ 67 เสียง

ซึ่งในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.นี้ พรรคภูมิใจไทย ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม โดย “เลขาฯนก” ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นหารือต่อที่ประชุมว่า “ในฐานะเลขาธิการพรรคและในนามสมาชิกรัฐสภาในสังกัดของพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด เรามีความคิดเห็นว่าวาระที่จะถูกพิจารณา เข้าขั้นที่จะผิดและขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขออนุญาตไม่เข้าร่วมการพิจารณา” และ นำทีม สส.วอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุมทันที

แต่ที่น่าสนใจคือกรณีที่สำนักกฎหมาย สำนักงานวุฒิสภา โดยนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ทำหนังสือแจ้งต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้ทราบแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย สำนักกฎหมายฯ ได้ทำความเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันประชามติ ชั้น ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ถามประชาชนก่อนว่าต้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 2.จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สภาเห็นชอบแล้วไปทำประชามติอีกที 3.เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างฉบับใหม่ ผ่านสภาแล้ว จึงทำประชามติ

อ้างตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มี หมวด 15/1  มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญพ.. 2560  ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน เรื่องนี้ถือเป็นการกำหนดทั้งท่าที สว. และพรรคการเมือง “ภูมิใจไทย-เพื่อไทย” ก็เห็นด้วย เพราะใครจะเอาตัวเองมาเสี่ยงแจ็คพอตว่า กระบวนการมันผิด ที่สุดก็คงต้องทำประชามติ 3 ครั้ง

จึงไม่ทราบจะได้แก้รัฐธรรมนูญเมื่อไร และเลือกตั้งปี 70 ก็คงใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน.