เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่รัฐสภา นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี และโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อม สส.พรรคภูมิใจไทย ร่วมแถลงถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดย น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าวว่า ตามที่นายไชยชนก ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาในจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ในการไม่ขอร่วมพิจารณาญัตติดังกล่าวในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ เบื้องต้นต้องขอทำความเข้าใจว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวพยายามจะดึงพรรคภูมิใจไทยไปเป็นพรรคที่อยู่ในกลุ่มไม่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ขออนุญาตขยายความให้เข้าใจว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในมุมมองของพรรคเรานั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องชอบธรรมและไม่สร้างปัญหาในอนาคต ถ้าย้อนกลับไป พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคแรกที่ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ด้วยซ้ำ ถึงนำไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2564

น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าวต่อว่า  ขอย้ำว่าเราเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องอยู่ในขั้นตอนที่ชอบธรรม การแก้ไขรายมาตราสามารถทำได้ แต่วันนี้เป็นการพิจารณาในมาตรา 256 ซึ่งจะนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. และนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรามีความเห็นร่วมกันอย่างชัดเจน ว่านี่คือการขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่มีเอาไว้ในประเด็นนี้ตั้งแต่ปี 2564 ดังนั้นเราจึงมีความเห็นร่วมกันทั้งพรรค ว่าไม่ขอมีส่วนร่วมในการพิจารณาในครั้งนี้ เพราะเป็นเราเห็นว่านี่คือการขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“มีข่าวออกมาว่าพรรคภูมิใจไทยจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง เราพร้อม แต่ต้องอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรมและไม่สร้างปัญหาในอนาคต ที่สำคัญที่สุดการแก้ไขรายมาตราทำได้ทันที แต่ถ้าเป็นการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การแก้ทั้งฉบับ หรือเป็นการยกร่างใหม่นั้น ตามคำวินิจฉัยของศาล ชัดเจนว่าต้องมีการทำประชามติ คือต้องมีการถามความเห็นของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศเสียก่อน ว่ามีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร” โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าว

เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อการทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าวว่า ที่ผ่านมานายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้กล่าวชัดเจนแล้วว่า ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการยื่นเฉพาะพรรคการเมือง ซึ่งในวันนี้ที่เราเห็นมีเพียง 2 พรรคการเมืองเท่านั้น ที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของทั้งฝั่งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ต้องบอกว่าเป็นเรื่องความเห็นของพรรคในการยื่น ดังนั้นในเรื่องการทำงานในระดับของพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่เราทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้ คือการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งชัดเจนในหน้าที่ของเรา.