เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ถ.วิภาวดีฯ ได้มีการประชุมสส.ประจำสัปดาห์ โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท. และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อและประธาน สส.พรรค พท. เป็นประธานการประชุม
จากนั้นนายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า การประชุมสส.การพูดถึงการพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวดมาตรา 15/1 ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ พรรค พท.กำชับกับ สส.ว่าต้องเป็นองค์ประชุม เราจะพร้อมกันในเวลา 09.00 น. ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะไม่ร่วมพิจารณาวาระดังกล่าว หรือ สว.บางคนจะไม่มาร่วมประชุมเลยนั้น เราไม่สามารถที่จะไปก้าวก่ายพรรคอื่นว่าเขาจะมาหรือไม่มาได้ เราไม่สามารถไปควบคุมได้ แน่นอนเราทราบดีว่าในส่วนของพรรคประชาชน (ปชน.) ที่เป็นเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกฉบับ กับพรรค พท.น่าจะเป็นสองพรรคที่เป็นกำลังหลักในการที่จะเป็นองค์ประชุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์
นายดนุพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เราประชุมสส.ของพรรคนั้น ได้ทราบมาว่า วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00 น. จะมีสว.กลุ่มหนึ่งยื่นญัตติเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อขออนุญาตให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรค พท.ต้องขอฟังสว.ที่ยื่นญัตติดังกล่าวก่อนว่าเหตุผลอะไรที่จะต้องยื่น อยากยื่นเพื่ออะไร ต้องการความชัดเจนในเรื่องอะไร เพราะในอดีตก็เคยมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกัน ซึ่งขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีคำตอบมาให้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่แล้วไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
นายดนุพร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ หากประเด็นที่ สว.จะยื่นไปแล้ว เราเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ตอบแน่ๆ เท่ากับว่าเป็นการชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ ตรงนี้เราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่หากสิ่งที่สว.พูดมามีเหตุผล เราก็จะขอพิจารณาอีกครั้ง แต่จากที่เราคาดเดากันก็คาดว่า สว.จะยื่นว่ารัฐสภาสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ฉะนั้น เราต้องรอฟังเหตุผลก่อนว่าเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะให้คำตอบ
นายดนุพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ก็มีการทักท้วงจากหลายฝ่าย บางคนก็ทักท้วงมาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องใช้เสียงสว. 1 ใน 3 คือ 67 เสียง หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่มีมติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วต้องมีการลงมติในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แล้วเราได้เสียงสว. ไม่ครบ 67 เสียงก็เท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตกไป ไม่สามารถยื่นกลับมาได้อีก แต่หากจะเอาความชัวร์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือถ้ายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญสามารถมีคำวินิจฉัยลงมาว่าเราสามารถแก้ไขได้ ร่างนี้ก็ยังอยู่ต่อ มีสิทธิ์ที่จะพิจารณาต่อไปได้
นายดนุพร กล่าวต่อว่า ส่วนหากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอาจถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลาในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทางพรรค พท.ก็ได้เตรียมผู้ที่จะอภิปรายและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าจุดยืนของพรรค พท.เราอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ๆ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าขณะนี้เรายังไม่มีมติว่าเราจะโหวตเห็นชอบกับสว.หรือไม่ ทั้งนี้ ด่านแรกที่เราจะต้องผ่านให้ได้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์คือ องค์ประชุมรัฐสภาต้องครบและสามารถเปิดประชุมได้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าองค์ประชุมจะครบหรือไม่ แม้ว่าเราจะพยายามเช็กกันว่าสว.ที่จะเข้าร่วมประชุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จะมีทั้งหมดกี่ท่าน แต่เราก็ไม่สามารถเช็กได้ขนาดนั้น ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ยังมีเสียงแตกว่าจะแก้ไขหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมของสส.พรรค พท. ได้มีสมาชิกแจ้งต่อที่ประชุมกรณีที่พรรค ภท.ระบุว่าจะไม่ร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภา โดยที่ประชุมพรรค พท.มองว่าปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเป็นของพรรคภท.ไป แต่พรรค พท.มีหน้าที่แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนและในการอภิปรายจะใช้คนไม่เยอะ มุ่งอภิปรายถึงแนวทางที่ชัดเจนของพรรค พท.