น.ส.แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย ของ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า กูเกิล ร่วมมือกับ เพอเซ็ปทรา ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ด้านการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีของ กูเกิล เพื่อสนับสนุนการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ด้วย เอไอ ให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนที่ขาดแคลนทั่วประเทศไทย ประมาณ 1 ล้านคนในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  โดยมั่นใจว่า การนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ และการร่วมมือกับพาร์เนอร์ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานจำนวนหลายล้านคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากที่สุดได้รับการตรวจคัดกรองและการรักษาอย่างทันท่วงที

“ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรวัยผู้ใหญ่ 800 ล้านคนที่กำลังเผชิญกับโรคเบาหวาน ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่ามี 6 ล้านคนอยู่ในประเทศไทย โดยผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 1 ใน 3 รายมีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งอาจนำไปสู่การตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษา เป้าหมายของโมเดล เอไอ นี้คือการช่วยป้องกันการตาบอดในผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยการสนับสนุนการตรวจหาในระยะเริ่มต้นและช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเอไอ มีศักยภาพที่จะช่วยพลิกโฉมด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกัน การตรวจหา และการวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น กูเกิลหวังว่าจะได้ต่อยอดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยในการปลดล็อกศักยภาพของ เอไอ เพื่อยกระดับบริการด้านสาธารณสุขและช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” 

น.ส.สุพิชญา พู่พิสุทธิ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด กล่าวว่า การผสานเทคโนโลยีของ กูเกิลเข้ากับโซลูชันของบริษัทจะช่วยให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถให้บริการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาขั้นสูงและอื่นๆ ได้ นับเป็นก้าวสำคัญในการพลิกโฉมบริการด้านสาธารณสุข โดยกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

Katherine Chou, Head of Product and UX, Google Research กล่าวว่า ตั้งแต่การวิจัยเบื้องต้นจนถึงการคัดกรองผู้ป่วยครั้งแรกในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนศักยภาพของ AI ให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับผู้คนทั่วโลก โดยความร่วมมือล่าสุดกับ Perceptra ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ด้านการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีของเรา จะช่วยให้เราต่อยอดความมุ่งมั่นนี้ด้วยเทคโนโลยีของเรา ไปพร้อมๆ กับเครือข่ายผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทั่วโลกที่กำลังร่วมมือกันเพื่อขจัดภาวะตาบอดที่ป้องกันได้ซึ่งเกิดจากภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ความพยายามดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดนี้จะช่วยให้ทุกคนมองเห็นอนาคตที่สดใสได้ดียิ่งขึ้น

การประกาศความร่วมมือในวันนี้ต่อยอดมาจากโครงการริเริ่มเมื่อเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยของ Google Research และพาร์ทเนอร์ด้านการวิจัยพื้นฐาน ได้แก่ โรงพยาบาลจักษุอราวินด์ในประเทศอินเดีย (2560) และโรงพยาบาลราชวิถีในประเทศไทย (2561) เริ่มศึกษาว่า AI สามารถช่วยลดภาวะตาบอดที่ป้องกันได้ (Preventable Blindness) ซึ่งเกิดจากโรคตาอย่างเช่นภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) ได้อย่างไร 

สำหรับในประเทศไทย Google ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ นายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข  ความร่วมมือนี้ครอบคลุมการศึกษาวิจัยหลายชิ้นภายในโครงการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงการศึกษาแบบย้อนหลังและศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้า การวิจัยการประยุกต์ใช้และการวิเคราะห์ประสิทธิผลของโครงการ จนถึงปัจจุบัน โมเดลดังกล่าวช่วยตรวจคัดกรองภาวะนี้ตามคลินิกต่างๆ ทั่วโลกไปแล้วกว่า 600,000 ครั้ง