เรื่องน่าสนใจในการประชุม ครม. วันที่ 11 ก.พ. คือ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร บอกว่า ได้รับข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจในหลายกลุ่มค่อนข้างเยอะในเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมาย ในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และไม่สอดคล้องกับนโยบายที่ปีนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาเรื่องปลดล็อกแอลกอฮอล์

“ศึกษาในเรื่องการห้ามขายช่วงเวลา 14.00-17.00 น. การห้ามขายในช่วงของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ว่าเรื่องนี้มีการกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง ศึกษาการห้ามขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเรื่องข้อจำกัดด้านการควบคุมพื้นที่ที่เป็นโซนนิ่ง กฎบางกฎออกมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 หรือตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2515 ก็มี จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนเรื่องนี้อีกรอบ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย และต้องป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างง่ายดาย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุด” นายกฯ กล่าว

การทบทวนเรื่องการขายเหล้าวันนักขัตฤกษ์ นายกฯ อิ๊งค์ บอกว่า อย่างวันพระใหญ่ หรือวันอะไรของเราที่เป็นข้อห้ามอยู่ ชาวต่างชาติที่มาเขาไม่ได้ทราบวันเหล่านี้ก่อน และจะมีผลเรื่องการท่องเที่ยว และที่ให้เลิกขายตอน 14.00-17.00 น. เพราะมีกฎหมายมาใช้ช่วงไม่นานนี้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงสาธารณสุข ไปศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย ขอให้พิจารณา ปรับปรุงแก้ไขในข้อกฎหมาย หรือข้อบังคับหรือประกาศใดๆ ที่ทำได้ก่อนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการโรงแรมเรียกร้องมานาน การห้ามขายแอลกอฮอล์เวลา 14.00-17.00 น. และวันสำคัญทางศาสนา ไม่มีผลต่อคนไทยเพราะสามารถวางแผนซื้อตุนไว้ได้ แต่ไปมีผลต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติในบางประเทศที่เขามีธรรมเนียมการดื่ม ก็ไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้

“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ก็ต้องศึกษาข้อดีข้อเสียของการมีกฎและไม่มีกฎ เป็นเรื่องของของกฎกรมการปกครอง หากต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.เสียงรัฐบาลก็จะมีเอกภาพ เนื่องจากนายกฯ สั่งการมาแล้ว หากแก้ไขข้อกฎหมายรอบนี้ก็คงต้องมีการเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น เช่น หากเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ในช่วงกลางวันและยังมีมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องใช้วิธีการควบคุมให้มากขึ้น

ส่วนเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นายกฯ อิ๊งค์ บอกว่า ได้พูดคุยกับ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน บอกว่า เป็นที่ท่องเที่ยว เราวางไว้ว่าเป็นกาสิโนไม่ถึง 10% ของพื้นที่ เราตั้งใจให้เป็นที่ของครอบครัว ให้เด็กๆ ไปได้หมด ทั้งนี้ กาสิโนเป็นส่วนเล็กๆ ในนั้นเท่านั้น ทุกวันนี้เราต้องดูว่าบ่อนหรือสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้มีหรือไม่ในประเทศไทย เราไม่ได้พยายามจะพูดว่ามันสะอาด 100% แต่มันมีแน่นอนแล้วเงินเหล่านั้นเกิดประโยชน์กับใครบ้าง

หากเราดูกฎหมาย เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เขตเศรษฐกิจในส่วนนี้ภาษีที่เราเก็บได้สามารถนำไปเป็นทุนการศึกษาเด็กได้ ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ สี จิ้นผิงท่านให้ข้อแนะนำว่า หากมีกาสิโนจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราก็บอกว่ายินดีรับฟังความเห็น

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามกรอบเวลา 50 วัน ว่า น่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือน มี.ค.(ครบ 6 มี.ค.) เบื้องต้นปรับเปลี่ยนจากร่างเดิมไปมาก แต่สาระสำคัญยังคงเหมือนเดิม ในเบื้องต้นคิดว่า ควรกำหนดขอบเขตไว้ว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ควรมีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ขึ้นอยู่กับว่า ฝ่ายนโยบายจะเอาเท่าไร คงไม่เกิน 10%

“การสื่อสารของประชาชนให้ทบทวนร่างกฎหมายนั้น ก็ต้องให้ฝ่ายบริหารสั่งการมา ว่าจะทำอย่างไร ให้ข้าราชการประจำคิดเองจะกลายเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง ซึ่งมันจะผิดหลัก ถ้าเป็นเรื่องนโยบายก็อยู่ที่ทางรัฐบาล ไม่ใช่มากดดันที่กฤษฎีกา เราไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรขนาดนั้น ถ้าทำประชามติต้องให้รัฐบาลดำเนินการ” นายปกรณ์ กล่าว

วันที่ 13-14 ก.พ.จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีร่างของเพื่อไทยกับพรรคประชาชน (ปชน.) “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

“นี่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกฯ แถลงต่อรัฐสภาวันที่ 12 ก.ย. 67 ดังนั้น เราควรได้เห็นคือการแสดงเจตจำนงและบทบาทนำของนายกฯ ที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ แต่ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธารกลับไม่เคยแสดงบทบาทหรือสื่อสารต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายนี้ โจทย์ใหญ่ของการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะนี้ คือการต้องได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เกิน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการได้เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลผสม ต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการความเห็นต่าง ขอให้สร้างเอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ รักษาคำพูดต่อนโยบายเรือธงที่ตัวเองเคยประกาศ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณี “บิ๊กตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า การยื่นเอกสารข้อมูลซักฟอกเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในวันที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นแค่ซองเปล่า หัวหน้าเท้ง บอกว่า “การยื่นหนังสือ เกิดจากการประสานของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ซองที่ยื่นให้ แม้จะเป็นซองเปล่าหรืออย่างไร ก่อนหน้าก็พูดคุยกันว่าจะประสานให้ข้อมูลหลังบ้านอีกครั้ง จากทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่เชื่อว่า ความเป็นผู้ใหญ่จะยื่นซองเปล่า

“ก่อนหน้านี้ที่มีการประสานมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ยืนยันว่า จะให้ข้อมูลเช่นกัน หากมองโดยบริบทแล้ว เห็นว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นผู้ใหญ่ก็ยินดีที่จะรับฟังข้อมูลทุกอย่าง เพื่อนำมาใช้ในการอภิปรายให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน หากไม่มาให้ข้อมูลกันตามที่พูดกันไว้ ผมและประชาชนก็มองได้ว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่ในการเมืองนั้นปฏิบัติตัวอย่างไร และพรรคเสรีรวมไทยเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ก็จะต้องดูที่ตัวของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่า ทำงานตรวจสอบรัฐบาลอยู่ หรือใช้วิธีการยื่นซองแบบนี้ เพื่อผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า จากประสบการณ์ คาดว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ยากที่จะผ่านความเห็นชอบ สมาชิกรัฐสภากังวลว่า ถ้าต้องทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่าทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าลงคะแนนไปแล้ว จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เชื่อว่าจะมีคนร้องแน่ว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

“และยังมีการเสนอญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งเชื่อว่าวุฒิสภา จะเป็นผู้เสนอญัตติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องทำประชามติอย่างไร และหาก สว.ไม่ร่วมโหวตก็ถือว่าจบ เพราะการไม่ลงคะแนนให้ก็ถือเป็นปัญหาแล้ว หรือพรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติถามหรือไม่ ทั้งที่เป็นเจ้าของร่างเอง การยื่นจะต้องได้เสียงผู้ร้อง 40 คน หรือหากผ่านการประชามติก็จะต้องพิจารณาว่าจะใช้วิธีดำเนินการตามกฎหมายฉบับใด เนื่องจากกฎหมายประชามติที่แก้ไขเพิ่มเติมและยังติดล็อก 180 วันอยู่ต้องรอถึงช่วงเดือน ก.ค. หากรับหลักการก่อนและต้องทำประชามติตามกฎหมายเดิมด้วยหลักเกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น กังวลว่าประชามติจะผ่านหรือไม่” นายนิกร กล่าว

นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร บอกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพียงว่า ในพรรคเพื่อไทยขอคุยเรื่องนี้กันอีกที ส่วนเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพิ่งคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล เรื่องหัวข้อต่างๆ ว่าหัวข้อไหนจะมีคำตอบอย่างไรบ้าง คงคุยกันอีกครั้ง เพราะเพิ่งกลับมาและได้ทำงานและเจอรัฐมนตรีวันนี้ ภายในสัปดาห์นี้ต้องเคลียร์เรื่องเหล่านี้เพื่อตอบฝ่ายค้านให้ประชาชนเข้าใจ ถ้าแตะไปที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็พร้อมตอบ เป็นนายกฯ ต้องพร้อมตอบทุกเรื่อง

ปิดท้ายที่นายกฯ ยืนยันยังไม่มีการปรับ ครม.

“ทีมข่าวการเมือง”