เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 ก.พ. 68 ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำพิพากษา คดี ย.87/2566 ที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดียาเสพติด 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว กรณ์ชายานันท์ จำเลยที่ 2, พ.ต.อ.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ ตำแหน่ง ผกก.ฝ่ายความร่วมมือและกิจการระหว่างประเทศ กองการต่างประเทศ อดีตภรรยาของนายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว เป็นจำเลยที่ 8 กับพวกรวมกันเป็นจำเลยที่ 1-25 ในความผิดฐาน สมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดในลักษณะขององค์กรอาชญากรรม, ร่วมกันจำหน่ายโดยมีไว้เพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันจำหน่ายโดยมีไว้เพื่อจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และประเภท 4 โดยไม่ได้รับอนุญาต, สมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน, เป็นอั้งยี่มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, ร่วมกันรับคนต่างด้าวทำงานโดยคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน และร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ ให้คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

กรณี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65 ตำรวจ บช.น. นำกำลังเข้าตรวจค้นผับ “จินหลิง” ย่านสาทร พบและยึดยาเสพติดประเภท 1, 2 และ 4 พร้อมอุปกรณ์การเสพหลายรายการ และอาวุธปืน จากการสอบสวนพบเป็นเครือข่ายของกลุ่มทุนจีนสีเทา โดยมีนายตู้ห่าวจำเลยที่ 1 กับพวกจำเลย ร่วมกันกระทำความผิด โดยศาลได้รวมการพิจารณา 3 สำนวนเป็นคดีเดียวกัน โดยจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ขอกลับคำให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

โจทก์ฟ้องว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63-1 พ.ย. 65 จำเลยร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์อาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันกระทำผิดร้ายแรง ได้มาซึ่งทรัพย์สิน มุ่งหมายการอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยทั้ง 25 ร่วมกันวางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ โดยนำคนกัมพูชามาทำงาน และให้คนจีนมาเที่ยวในแหล่งบันเทิงที่จำเลยร่วมกันเปิด มีการจำหน่ายยาเสพติดให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ มียาเสพติด เมทแอมเฟตามีน, เคตามีน, ไนเมตาซีแพม, โคลนาซีแพม, สารซีเมทิลีน เพื่อการค้า โดยมีการจัดเป็นชุด จำเลยที่ 1-7, 9-12, 16, 17, 19 และ 21 ร่วมกับพวกที่หลบหนี ร่วมกันจัดหาเงินทุนเพื่อจัดซื้อยาเสพติด สถานที่เสพ สถานที่เก็บยาเสพติด ชักชวนลูกค้าจากต่างประเทศมาเที่ยวและเสพยา โดยจำเลยกระทำผิดฐานฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน มีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกว่า 300 ครั้ง เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด มีปืนแบลงก์กัน เครื่องกระสุนปืน ร่วมกันเปิดสถานบริการ “จินหลิง” โดยไม่ได้รับอนุญาต และรับคนต่างด้าว 27 คน มาทำงานโดยผิดกฎหมาย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์นำพยานบุคคลเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ปปง. และ ป.ป.ส. เข้าเบิกความ ว่าช่วงปลายเดือน ก.ย. 65 เกิดเหตุนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนเสียชีวิตจากการเสพยาเสพติดที่สถานบริการท็อปวัน ย่านรัชดาภิเษก ตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า มีความเชื่อมโยงกับสถานบริการ จินหลิง จึงเป็นเหตุให้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้น เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65 พบว่าเป็นสถานบริการที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไปเที่ยวเสพยาเสพติด โดยมีการนัดหมายผ่านโปรแกรม WeChat และ telegram มีการดัดแปลงอาคารเป็นห้องคาราโอเกะ 12 ห้อง พบนักเที่ยวเป็นชาวต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นชาวจีนจำนวน 200 คน มีจำนวน 100 คน ที่พบปัสสาวะสีม่วง มีคนไทยคนจีนและเมียนมาเป็นพนักงาน พบว่า ตู้ห่าว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองอาคารจินหลิง โดยพบบัญชีของธนาคารกรุงเทพ และบัญชีธนาคารกสิกรไทย ในการชำระเงินค่าบริการและจ่ายค่ายาเสพติด และโอนเข้าบัญชีแถวที่ 1 บัญชีแถวที่ 2 จำนวน 16 บัญชีแถวที่ 3 และแถวที่ 4 ซึ่งบัญชีดังกล่าวมีลักษณะเป็นบัญชีม้า โดยมีบุคคลอื่นทำธุรกรรมแทนชื่อเจ้าของบัญชีและมีการโอนเงินเกี่ยวพันกับร้านท็อปวัน

เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้ง 25 เป็นอั้งยี่และเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้น โจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่า จำเลยทั้ง 25 มีการสั่งการหรือควบคุมการกระทำความผิดในสถานที่ใด ตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด แบ่งหน้าที่กันอย่างไร ได้ความแต่เพียงว่า ก่อนเข้าจับกุม 2 สัปดาห์เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแฝงตัวเข้าไปภายในร้านจินหลิงได้ จึงต้องทำการขอศาลออกหมายค้นเข้าตรวจค้น พยานหลักฐานในเรื่องการเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจึงมีน้ำหนักน้อย ฟังได้ว่าในการตรวจค้นที่ร้านดังกล่าวพบชาวต่างด้าวและยาเสพติด เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานยึดยาเสพติด ปืนแบลงค์กันและวิทยุสื่อสาร แม้จำเลยที่ 1, 4 และ 5 แม้ให้การรับสารภาพในข้อหานี้ แต่ก็ไม่สามารถลงโทษในความผิดฐานองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดเรื่องการสมคบกันค้ายาเสพติดประเภทที่ 1, 2 และ 4 หรือไม่ เห็นว่า ขณะเข้าตรวจค้นไม่พบ ตู้ห่าวจำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุ ที่โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองร้านในฐานะผู้เช่า เห็นว่าในทางนำสืบของโจทก์จำเลยที่ 2 ได้รับโอนเช่าร้านจินหลินเมื่อปี 2562 ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จากนายสิทธิกร ซึ่งเป็นลูกหนี้มีกำหนดเช่า 3 ปี แทนการชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบกำหนด 3 ปีตามสัญญาเช่าเมื่อปี 2564 อาคารดังกล่าวจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ได้นำตัวนายสิทธิกรมาเบิกความเพื่อให้ทนายความจำเลยที่ 2 ซักค้านอีกด้วย

จำเลยที่ 1, 4 และ 5 ให้การรับสารภาพ ว่าเป็นพนักงานภายในร้านจินหลิง ดูแลห้องเก็บสินค้าซึ่งเป็นห้องที่เก็บยาเสพติดนำไปจำหน่ายในห้องคาราโอเกะ ลักษณะของร้านมีลักษณะปกปิด ต้องนัดหมายก่อนถึงเข้าไปเที่ยวได้ และยาเสพติดที่พบมีปริมาณมาก มี เมทแอมเฟตามีน 1,063.314 กรัม และมีเคตามีน 2,709.985 กรัม เป็นอาชญากรรมร้ายแรงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ยังมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองด้วย

จำเลยที่ 5 ยังมีความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, ร่วมกันรับคนต่างด้าวทำงานโดยคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน และร่วมกันให้เข้า พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆให้คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ส่วนจำเลยที่ 7, 11 และ 12 มีความผิดฐานสนับสนุนให้มีการจำหน่ายยาเสพติด สถานที่เก็บยาเสพติด และสถานที่เสพยาเสพติด

โดยจำเลยทั้ง 25 ไม่มีความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า เงินที่มีการโอนไปมา หลังวันที่ 26 ต.ค. 65 เป็นเงินจากการกระทำความผิดค้ายาเสพติดหรือไม่ จึงมีความสงสัยตามสมควร ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้ง 25

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 4 มีความผิด 5 กระทง ฐานร่วมกันจำหน่ายโดยมีไว้เพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันจำหน่ายโดยมีไว้เพื่อจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และประเภท 4 โดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุกคนละ 27 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,790,000 บาท

จำเลยที่ 5 มีความผิด 8 กระทง คงจำคุกเป็นเวลา 28 ปี 12 เดือนปรับ 2,600,000 บาท

จำเลยที่ 7, 11 และ 12 มีความผิด 4 กระทง ในข้อหาสนับสนุนช่วยเหลือจัดหาสถานที่ในการจำหน่ายยาเสพติดประเภท 1, 2 และ 4 คงจำคุกคนละ 21 ปี 24 เดือน ปรับคนละ 1,766,66.66 บาท ริบของกลาง

จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง