เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ได้ร่วมกันแถลงข่าว ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหา ปลัดจังหวัดคนหนึ่ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้ทุจริตเงินรายได้ปาล์มน้ำมันของอำเภอ นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมธนารักษ์ ได้อนุญาตให้กรมการปกครอง ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่ จ.ตรัง เป็นศูนย์ราชการอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ และบ้านพักข้าราชการกรมการปกครอง โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 154 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2554 นายอำเภอขณะนั้น เห็นว่าพื้นที่บริเวณด้านข้างที่ว่าการอำเภอ ซึ่งอยู่ติดกับบ้านพักนายอำเภอ ยาวไปจดกับเทศบาล เนื้อที่ประมาณ 20 กว่าไร่ เป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแปลงสาธิตด้านเกษตร และทำการปรับพื้นที่ปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ประมาณ 400 ต้น โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการและก็ไม่ได้แจ้งขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าว จากนั้น เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 58 ผู้ถูกกล่าวหารายนี้ ได้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอ

จึงได้เข้ามาดูแลบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันของอำเภอวังวิเศษดังกล่าว โดยมีอาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอวังวิเศษ (อส.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหน้าห้องของนายอำเภอรายนี้ เป็นผู้ดูแลจัดการให้ และเมื่อได้รับเงินจากการขายผลปาล์มน้ำมันแล้ว จะนำเงินมามอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยในเริ่มแรกตั้งแต่เดือน พ.ย. 58 จนถึงประมาณกลางปี 60 โดยได้มีการเก็บผลปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 15-20 วัน/ต่อครั้ง มีรายได้เป็นเงินประมาณ 6,000-10,000 บาท/ต่อครั้ง เมื่อคำนวณเงินรายได้จากการขายผลปาล์มน้ำมันในช่วงเวลาประมาณ 2 ปี จะมีรายได้เงินประมาณ 200,000-300,000 บาท ซึ่งปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหา ได้ชี้แจงว่าได้นำเงินรายได้ดังกล่าว ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนปาล์มน้ำมัน เช่น ค่าซื้อปุ๋ยบำรุงต้นปาล์ม จำนวน 39,000 บาท ค่าคนงานใส่ปุ๋ย จำนวน 1,500 บาท ค่าคนงานตัดหญ้า/ตัดทางปาล์ม จำนวน 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 55,500 และนำไปเป็นค่าใช้จ่ายจัดกิจกรรมต่างๆ ของอำเภอเป็นเงินจำนวน 70,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 125,500 บาท โดยยังมีเงินส่วนที่เหลืออีก เป็นเงินประมาณ 74,500-174,500 บาท ที่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แน่ชัดว่า ผู้ถูกกล่าวหา ได้นำไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการใดของทางอำเภอวังวิเศษหรือทางราชการ ไม่สามารถรับฟังหรือชี้แจงได้ โดยที่ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้เก็บเงินรายได้ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย หรือมีหลักฐานการใช้จ่ายที่ทำให้สามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง

อีกทั้งขณะที่ ผู้ถูกกล่าวหา ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ในขณะนั้น ก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 14 ธ.ค. 58 แจ้งให้ทางอำเภอ ทำการตรวจสอบว่ามีการนำที่ราชพัสดุไปจัดหาประโยชน์ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตหรือผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ หรือนำไปใช้นอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือนำที่ราชพัสดุไปใช้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในราชการ ไปจัดหาประโยชน์โดยไม่ถูกต้อง ซึ่งหากใช้ที่ราชพัสดุไม่ถูกต้องให้แจ้งขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ แต่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหา กลับไม่ดำเนินการตามหนังสือที่ได้สั่งการไปแต่อย่างใด

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 และในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 85 (7) มาตรา 83 (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1) (4) และสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก และพิจารณาโทษภายใน 30 วัน

โดยปัจจุบันนี้ ผู้ถูกกล่าวหา ยังคงดำรงตำแหน่งทางราชการ ในตำแหน่ง ปลัดจังหวัด อย่างไรก็ตาม การไต่สวนคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด.