ถ้ามองภาพย้อนหลัง ภาคประชาสังคม NGO มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นกลุ่มที่ปรับตัวยาก มี Mindset ที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พอจะต้องรัดเข็มขัดมักจะเสียบุคลากรเก่ง ๆ ไป แม้จะประหยัดได้แต่ก็ขาดประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันลดลง เหล่าองค์กร NGO ที่ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อย ๆ ลดขนาด และปิดไป ที่ยังอยู่ในปัจจุบันคือองค์กรที่ปรับตัวได้ดี มีความทันสมัย
ถ้าเรามองภาคธุรกิจ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด รวดเร็วที่สุด มีการลดคน ลดขนาดอย่างรวดเร็ว มีการรีดประสิทธิภาพให้เพิ่มขึ้น มีการลงทุนในเทคโนโลยี มีการควบรวมหน่วยงานเพื่อลดต้นทุน ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตรทางการค้า แม้จะปรับลดขนาดให้ลีนไปมากแล้ว ยังต้องปรับต่อไปให้มีประสิทธิภาพทันสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปั่นป่วนทั่วโลก
แต่ภาคราชการนี่ซิ มีขนาดใหญ่ ปรับตัวช้ามาก โดยมีระบบระเบียบ และ กฎหมายต่าง ๆ เป็นเกราะคุ้มกัน ถ้าเราดูปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นวิกฤติของประเทศ จะเห็นว่าเป็นภารกิจของหลายกระทรวง หลายกรมกอง หลายหน่วยงาน และหลายคณะกรรมการ อนุกรรมการ ซึ่งต่างคนต่างทำเป็นอิสระ เกี่ยงกันรับผิดชอบ ถึงเวลาที่จะมาจัดระบบระเบียบ และโครงสร้างการทำงานกันใหม่ เพราะทรัพยากรที่มาจากภาษีของประชาชนมีจำกัด ขนาดรัฐบาลอเมริกันที่เราคิดว่าจัดการได้ดีแล้ว อีลอน มัสก์ ที่มาจากภาคธุรกิจ เริ่มผ่าตัดระบบราชการที่ซ้ำซ้อน ขาดประสิทธิภาพ เริ่มการลดคน ยุบ และควบรวมหน่วยงานจนปั่นป่วนทั่วโลก โดยถ้าทำสำเร็จจะสามารถลดขนาดลงได้ 1 ใน 3 และจะนำงบประมาณที่ประหยัดได้ กลับมาลงทุนในโครงการสำคัญ ๆ ใหม่ ๆ ได้ถึง 70 ล้านล้านบาท
ถึงเวลาที่เราจะลดขนาดระบบราชการ ลดความซ้ำซ้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือยัง แล้วนำงบประมาณที่ประหยัดได้ มาลงทุนโครงการที่ประชาชนต้องการ โดยไม่ต้องรอภาษีจากพนันออนไลน์ หรือกาสิโน.