การกินน้ำแข็งหรือเคี้ยวน้ำแข็งเล่นเป็นครั้งคราวไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง
“การอยากกินน้ำแข็งเป็นรูปแบบหนึ่งของโรค Pica หรือโรคชอบกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร” ดร.ซาราห์ เบาท์เวลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายแผนกอายุรศาสตร์ทั่วไปของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันแห่งสหรัฐกล่าว “ตัวอย่างอื่นๆ ของโรค Pica ได้แก่ การกินดิน แป้ง หรือดินเหนียว”
ทีแกน แมนซูริ ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์โภชนาการในภาควิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและโภชนาการ มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ผู้ป่วยโรค Pica ที่ชอบกินหรือเคี้ยวน้ำแข็ง มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Pagophagia ซึ่งปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าผู้ป่วยโรคนี้มีอยู่มากเท่าไหร่กันแน่
เบาท์เวลล์ชี้ว่า ความอยากกินน้ำแข็งอาจเป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าสาเหตุคืออะไร “ดูเหมือนว่าจะมีการหลั่งสารโดปามีนที่เกี่ยวข้องกับโรค Pica ซึ่งทำให้ผู้ป่วยกินน้ำแข็งต่อไปเรื่อยๆ”
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ร่างกายของบางคนจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาเมื่อพวกเขากินน้ำแข็ง ทำให้พวกเขาหวนกลับมากินน้ำแข็งซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เธีย กัลลาเกอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกที่เอ็นวายยู แลงกอนเฮลท์และผู้ร่วมจัดรายการพอดแคสต์ Mind in View บอกว่า การเคี้ยวน้ำแข็งอาจเป็นสัญญาณของโรคการกินผิดปกติได้ด้วย หากผู้ป่วยกินน้ำแข็งทดแทนอาหารที่มีแคลอรี
แม้การเคี้ยวน้ำแข็งอาจดูไม่เป็นอันตราย แต่โดยทั่วไปแล้วทันตแพทย์เห็นพ้องต้องกันว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ดีต่อสุขภาพฟัน
“น้ำแข็งเป็นของที่แข็งมาก” มาร์ก วูล์ฟฟ์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกล่าว เขาเปรียบเทียบการเคี้ยวน้ำแข็งกับการพยายามกัดกระดูก
“การเคี้ยวน้ำแข็งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ฟันแตกเล็กน้อยหรือแตกมากก็ได้” วูล์ฟฟ์กล่าวว่า ถ้าหากเป็นฟันที่ผ่านการอุดมาแล้วก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ฟันจะแตกจากการเคี้ยวน้ำแข็ง หรืออาจส่งผลกระทบร้ายแรงไปถึงข้อต่อขากรรไกร
“การใช้แรงกดมากขนาดนั้นที่ข้อต่อขากรรไกรอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและอาจเกิดความเสียหายถาวรได้” วูล์ฟฟ์กล่าวพร้อมทั้งชี้ว่า “วิธีเคี้ยวน้ำแข็งอย่างปลอดภัย” นั้น ไม่มีอยู่จริง
กัลลาเกอร์ยังกล่าวว่า หากรู้สึกว่าการเคี้ยวน้ำแข็งรบกวนชีวิตประจำวันและการทำงานของเรา หรือเริ่มเอาแต่คิดถึงการเคี้ยวน้ำแข็งไม่หยุด นั่นเป็นสัญญาณว่าเราจำเป็นต้องไปพบแพทย์
“โดยทั่วไปแล้ว โรค Pica จะได้รับการวินิจฉัยหลังจากมีความอยากกินสารที่ไม่ใช่อาหาร เช่น น้ำแข็ง เป็นเวลานานหนึ่งเดือน” แมนซูริกล่าว “อย่างไรก็ตาม หากคุณพบว่าคุณอยากกินน้ำแข็งบ่อยๆ ร่วมกับอาการต่างๆ เช่น อ่อนล้า สมาธิสั้น มือและเท้าเย็น หายใจขัดเมื่อออกแรง หรือปวดหัวบ่อยๆ คุณควรปรึกษาแพทย์ทันที”
ที่มา : yahoo.com/lifestyle
เครดิตภาพ : Sebastian Nikiel from Pixabay