แม้จะมีคำยืนยันจาก “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้มากบารมีที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลและ พรรคเพื่อไทย (พท.) จะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายกฯ หญิงคนที่สองของประเทศไทย ถึงกับบอกว่า ข่าวแบบนี้ออกมาถ้าดิฉันเป็นรัฐมนตรี จะรู้สึกว่าเอ๊ะเราจะโดนปรับหรือเปล่า มันสร้างความสั่นคลอน โดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งระบุอีกว่า เราต้องอาศัยความต่อเนื่องของการทำงาน และจำเป็นมากๆ ที่ทุกกระทรวงต้อง รู้สึกปลอดภัย และ แข็งแรงทำงานต่อได้ พอมีอะไรออกมาแบบนี้ก็ไม่ดี การจะบอกว่าปรับ ครม.หรือไม่ ดิฉันจะเป็นคนตอบเอง คนอื่นตอบมันไม่ใช่คำตอบ

สอดคล้องกับท่าที “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ก็ยืนยันว่า ยังไม่ถึงเวลา เพราะทุกคนยังทำงานกันได้ด้วยดี มีติดขัดเล็กน้อย แต่ยังไปด้วยกันได้ มีติดขัดเล็กน้อย แต่ยังเตือนกัน ยังไปได้ด้วยกันโดยไม่มีปัญหา รวมทั้งเมื่อสื่อตั้งคำถาม เมื่อมีกระแสข่าวว่าพรรคกล้าธรรม (กธ.) ต้องการเปลี่ยนให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค มาแทนนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายทักษิณ กล่าวว่า คงยังไม่มี เพราะนางนฤมลและร.อ.ธรรมนัส ก็ปรึกษากันอยู่ตลอด ซึ่งที่ผ่านมาใครก็รับรู้ว่า “ร.อ.ธรรมนัส” เป็นมือทำงาน ให้กับ นายทักษิณ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ ที่ผู้กองคนดังอาจอยากมีดาบอยู่ในมือ เพราะการไม่มี ตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ย่อมทำให้การขับเคลื่อนต่างๆ ไร้พลังพอสมควร แค่เมื่ออดีตนายกฯ ยืนยันว่ายังไม่มี นั่นหมายความว่า ก็คงต้องรอไป

แต่ใครเชื่อว่า เพราะคิดว่าการปรับ ครม. ต้องเกิดขึ้นแน่ อาจจะเป็นช่วงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากข้อมูลของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้รัฐมนตรีบางคนต้องบอบช้ำ ไม่สามารถชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ เหนือมากกว่านั้นหากมีการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ความไม่ชอบพามากล ในการบริหารงานมาเปิดเผย รวมทั้งมีใบเสร็จนำมาแสดง และสังคมให้ความเชื่อถือ ย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงในการกำจัดจุดอ่อนให้พ้นไปจากรัฐบาล เพื่อไม่ให้ ปัญหาลุกลาม ไปถึงหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ ถ้าจะมีการปรับหรือเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหาร แม้หัวหน้ารัฐบาลจะ ไม่อยากจะปรับเปลี่ยน แต่บางทีสถานการณ์อาจกดดันต้องดำเนินการ ซึ่งเงื่อนไขที่จะมีการปรับ ครม. น่าจะประกอบด้วย 1. รอฟังข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีคนไหนจะตกเป็นเป้าในการถูกตรวจสอบ สามารถชี้แจงได้หรือไม่ หรือปล่อยไว้จะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ถึงเวลาต้องกำจัดทิ้งหรือไม่

2. ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้บุคคลในพรรค พท. สลับสับเปลี่ยนเข้ามารับตำแหน่ง เข้าทำนองสมบัติผลัดกันชม เพราะ สส.พรรค พท.มีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้มากบารมี อาจต้องการให้คนที่ไว้วางใจเข้ามาทำงาน เพื่อตอบแทนสิ่งที่สั่งการไป แล้วทำงานประสบความสำเร็จ และ 3. ขอแลกเปลี่ยนกระทรวง กับพรรคร่วมรัฐบาล หรือปรับพรรคการเมืองออกจากการเป็น พรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่พอใจบทบาทที่ผ่านมา หรือปล่อยไว้อาจกลายเป็น หอกข้างแคร่ ในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ หลายคนจับตามองไปที่ “พรรคภูมิใจไทย (ภท.)” ที่ดูแลกระทรวงมหาดไทย มี “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ภท.ทำหน้าที่อยู่ โดยนั่งควบกับรองนายกฯ เพราะมีอำนาจดูแล ข้าราชการฝ่ายปกครอง และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผลการเลือกตั้งมากพอสมควร เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 55 พรรค ภท.ก็แย่งเก้าอี้ สส. จากพรรค พท. ในพื้นที่ภาคอีสานมา ได้มากพอสมควร รวมทั้งในการเลือกตั้งนายก อบจ. หลายพื้นที่พรรคสีแดงต้องปะทะกับ พรรคสีน้ำเงิน ดังนั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง อาจยอมผิดใจกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเมื่อเวลานั้น ต้องรอดูพรรค ภท. จะยอมหรือไม่
อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่มี ข่าวจะถูกปรับออก หรือยึดกระทรวงที่อยู่ในความรับผิดชอบคืนคือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)” ซึ่งดูแล กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงอุตสาหกรรม

อีกทั้งยังมีข่าว “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค รทสช. ซึ่งทำหน้าที่รองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน มีปัญหาขัดแย้งกับนายทุนที่ทำธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกับ “นายทักษิณ ชินวัตร” ทำให้ถูกจับตามอง อาจมีการขอสลับสับเปลี่ยนกระทรวง หรือหนักกว่านั้นอาจถูกปรับออกจาก พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งกระทรวงพลังงานมีบทบาท ดูแล ทั้งราคาค่าไฟฟ้า และ ค่าน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเกี่ยวกันกับธุรกิจ เป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท คงต้องรอดูว่า ผู้มากบารมีจะใช้ยาแรงกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่ แต่อย่าลืม สส. พรรค รสทช. มี 36 คน พรรค ภท. มี 69 คน
ส่วนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ชัดเจนแล้วว่า แกนนำพรรค พท.จะปิดทางไม่ให้ฝ่ายค้าน พาดพิง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จากเรื่องปมพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการป่วยทิพย์หรือไม่

โดย “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้ความเห็นกรณีพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า อยู่ที่ประเด็น หากไม่มีประเด็นอะไร จะใช้เวลาแค่วันเดียว คงพอ แต่หากมีประเด็น ที่จะอภิปราย เราไม่มีปัญหาจะใช้เวลากี่วันก็ได้ ให้ดูตามความจำเป็น เมื่อถามว่าการอภิปรายครั้งนี้ ดูเหมือนจะมุ่งประเด็น ไปที่คนนอก คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่จะอภิปรายใครก็ทำได้ เพราะมี กฎหมาย ระเบียบ และ ข้อบังคับสภา กำหนดอยู่ ขอให้ฝ่ายค้านตรวจสอบทบทวนให้ดี ถ้าไปอภิปรายคนนอก ข้อบังคับสภาและกฎหมายไม่ได้คุ้มครอง

ด้าน “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรค พท. กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยขอกรอบเวลาในการอภิปราย 5 วัน ว่า เท่าที่มีประสบการณ์มา เต็มที่ไม่เกิน 2-3 วัน ก็สุดแท้แต่คณะกรรมการประสานงาน (วิป) จะตกลงกัน แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะใช้เวลาถึง 5 วัน เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายพุ่งเป้าไปที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งอยู่นอกรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นายทักษิณไม่ได้รับการคุ้มครองจากสภาอยู่แล้ว เพราะเป็นคนนอก และข้อบังคับสภาก็ห้ามพูดถึง บุคคลภายนอก เมื่อถามว่าหากนายทักษิณ ถูกพาดพิงสามารถฟ้องร้องฝ่ายค้านได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ยอมรับว่า สามารถฟ้องได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา
คงต้องรอดูว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “นายทักษิณ” จะเป็นหนึ่งหัวข้อที่นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ สส.พรรคพท. จะคอยประท้วง เวลานำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ มาอภิปราย
ส่วนการพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่เสนอโดย พรรคเพื่อไทย (พท.) และ พรรคประชาชน (ปชน.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงข้อกังวลในการแก้ไข รธน.ที่อาจมีผู้ไปยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า ได้รับญัตติ แก้ไข รธน. 2 ญัตติ คือ 1.ร่างแก้ไข รธน. ฉบับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.และคณะ และ 2.ร่างของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท.และคณะ ซึ่งเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล จากการที่ได้ หารือกับวิป 3 ฝ่าย และ ผู้แทน ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้
ส่วนข้อกังวลดังกล่าว เป็นเรื่องของความเห็น ไม่ทราบว่าจะส่งให้ศาลรธน.ตีความในประเด็นใด มาจากกลุ่มไหน หากมาจากสมาชิกรัฐสภาจะต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า40คน และประธานรัฐสภาต้องหารือ ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ว่าจะมีผู้เห็นด้วยให้ประธานฯส่งไปให้ศาลรธน.ตีความหรือไม่ หากเสียงข้างมากเห็นว่าควรส่ง ประธานฯก็จะดำเนินการส่งไปยังศาลรธน.
“ผมใช้การวินิจฉัยของ ศาล รธน.ตีความ เพราะส่งให้ศาล และศาลบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด อำนาจการบรรจุญัตติเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา เรื่องยังไม่บรรจุ จะไปถามศาลทำไม นอกจากนี้ยังถามศาลไปควรทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง ศาลบอกให้วินิจฉัยเอาเอง ผมจึงตีความว่า การที่จะให้รัฐสภาแก้ รธน. ก็ต้องถามมติจากรัฐสภา ดังนั้นต้องมีการประชุม ถ้าวาระแรกในชั้นรับหลักการ ต้องเสียงข้างมากเห็นชอบ มากกว่า 1 ใน 3 แล้วฝ่ายวุฒิสภา ก็ต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเสียงก็ ต้องเกิน 1 ใน 3 คือ 67 คนขึ้นไป หากคนไม่เห็นด้วยเกินกว่า 1 ใน 3 ถือว่าญัตติก็ต้องตกไปในวาระแรก ก็ไม่ต้องไปถามประชามติจากประชาชนแล้ว
แต่หากวาระแรกผ่าน แสดงว่าต้องการแล้ว ผมก็หยุด กระบวนการของรัฐสภา แล้วนำความต้องการไปให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำประชามติต่อประชาชนว่า จะเห็นชอบกับการแก้ไข รธน.ทั้งฉบับหรือไม่ ในมาตรา 256 และหมวด 15/1 ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็เดินหน้าต่อ แต่หากไม่เห็นด้วย ก็ยุติทั้งหมด จะได้ไม่ต้องเสียเงิน ทำประชามติหลายรอบ การทำประชามติครั้งหนึ่ง ใช้เงิน 3,000 ล้านบาท เพราะถ้าหากเราถามประชาชนก่อน ประชาชนบอกเห็นด้วย แต่มาประชุมรัฐสภา รัฐสภาบอกไม่เอาด้วย ก็เสียเงินไป 3,000 ล้านเปล่าๆ ที่เอาไปทำอะไรได้ตั้งเยอะ” ประธานรัฐสภากล่าว

“นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรค พท. ยังได้กล่าวถึงผลประชุมวิป 3 ฝ่าย เรื่องการพิจารณาแก้ไข รธน. วันที่ 13-14 ก.พ.นี้ว่า อาจมีผู้ลุกขึ้นมาโต้แย้งในประเด็นการบรรจุวาระ เป็นไปตาม รธน.หรือไม่ รวมไปถึงสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาล รธน.หรือไม่ ซึ่งอาจมีการเสนอญัตติ และทำคำร้องถึงศาล รธน. เข้าชื่อจำนวน 40 คน เพื่อให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า ต้องทำประชามติกี่ครั้ง แสดงว่าพวกเขามีความไม่สบายใจ ต้องดูว่ารัฐสภาจะมีมติเห็นชอบกับแนวทางยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยหรือไม่ ยอมรับว่าหลายภาคส่วน มีความวิตกกังวล ทั้งวุฒิสภาและพรรคการเมืองจึงอยากให้ดำเนินการในแนวทางนี้ จะต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง
เมื่อถามว่ามองอย่างไรถึงกรณีที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เสนอว่า หากมีพรรคร่วมรัฐบาล พรรคใดขวาง การแก้ รธน. ให้ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ความเห็นบางเรื่อง มันเกินไป เช่นอาจจะผิดมาตรานั้นมาตรานี้ ขอเรียนว่า การแก้ไข รธน. ไม่เห็นว่าจะผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ดังนั้นกว่าจะไปถึงขั้นตอนให้ความเห็นชอบ คงต้องรอลุ้นว่า จะมี สส. หรือ สว. ขอเสนอให้ส่งให้ศาล รธน.ตีความก่อนหรือไม่ว่า จะต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน สมาชิกรัฐสภาจะได้ไม่วิตกกังวลว่า จะไม่มีปัญหาในการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ นั่นหมายความว่า กระบวนการแก้ไข รธน. ยังต้องเผชิญปัญหาอีกหลายประการ รวมทั้ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 1 ใน 3 จำนวน 67 คน จะให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขหรือไม่
ทีมข่าวการเมือง