เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 ก.พ. 68 ที่รัฐสภา กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ นำโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ นายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ร่วมแถลงจุดยืนต่อการสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาในวันที่ 13 -14 ก.พ. นี้

โดย น.ส.นันทนา กล่าวว่า สว.พันธุ์ใหม่ เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกของประชาชนที่เสนอเข้าสู่สภาพ และเห็นด้วยกับการลดอำนาจของ สว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้อำนาจแก้รัฐธรรมนูญอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้เราเห็นด้วยกับการทำประชามติ 2 ครั้ง คือ 1.หลังจากแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้ประชาชนเห็นด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. และ 2.หลังจากที่ ส.ส.ร. ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ เพื่อประหยัดเวลาและงบประมาณ

“การแก้รัฐธรรมนูญนั้น สว. ตกเป็นจำเลยของสังคม เพราะการแก้ไขได้ต้องใช้เสียง สว. 67 เสียง หาก สว. ไม่โหวต การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้น และไม่แตกต่างจาก สว. 250 ที่ตั้งจาก คสช. ดังนั้นขอเชิญชวน สว. มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้โหวตผ่าน เพื่อได้กติกาประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชน” น.ส.นันทนา กล่าว

เมื่อถามว่า มั่นใจว่าที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 ก.พ. ได้หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า การบรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการบรรจุโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา หมายความว่าการพิจารณาของ สส. และ สว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติของฝ่ายนิติบัญญัติที่ถูกต้องไม่ผิดปกติ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่จะพิจารณา และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่กังวลว่าการกระทำดังกล่าวนั้น จะเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ได้พิจารณารายละเอียดของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 อย่างไร น.ส.นันทนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการระบุหรือยืนยันว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ดังนั้นหากทำประชามติ 3 ครั้ง อาจเป็นการตั้งคำถามซ้อนคำถามหรือไม่ เพราะครั้งแรกถามว่าแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และครั้งที่สองถามว่าแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นหากทำจะทำให้เสียเวลาในกระบวนการและงบประมาณ 

เมื่อถามว่ากังวลต่อการฟ้องร้องหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า สังคมไทยมีแต่การฟ้องร้อง ทั้งนี้หากจะร้องเป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่รับเรื่อง ว่าการร้องนั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงต้องใช้ดุลพินิจเหมาะสมและสอดคล้องหรือไม่

ด้านนายพรชัย กล่าวว่า ขณะนี้มี สว. บางคนที่มองว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 ก.พ. นี้ อาจไม่ชอบด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งตนมองว่าการพิจารณานั้น ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้บรรจุเนื้อหาเอง ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมทางกฎหมาย ตนหวังว่าประเด็นดังกล่าวนั้น จะไม่เป็นข้ออ้างของ สว. เพื่อไม่ให้มีการบันทึกการออกเสียงเป็นมติว่าไม่แก้รัฐธรรมนูญ

ด้านนายเทวฤทธ์ มณีฉาย สว. กล่าวว่า ตนขอฝากถึงรัฐบาล 3 เรื่อง 1.ต้องการได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สมกับการเป็นนโยบายของรัฐบาล 2.เรียกร้องให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลออกมาส่งเสียงสนับสนุน และ 3.ฝากถึง สส. บางพรรคการเมืองที่มีความกังวล อย่างน้อยมาเป็นองค์ประชุม อย่างไรก็ตาม สำหรับ สว. ครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากวุฒิสภาชุดก่อนตีตกร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ และครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ของ สว. ว่าสุดท้ายจะเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารหรือไม่.