สัปดาห์นี้ต้องรอลุ้นการพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) หลัง “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา บรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 13-14 ก.พ. แก้ไขเพิ่มเติมการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางยกร่าง รธน. ฉบับใหม่โดยสภาร่าง รธน.(ส.ส.ร.) ซึ่งมีการเสนอมา 2 ร่างของพรรคเพื่อไทย (พท.) กับร่างของพรรคประชาชน (ปชน.) โดยเฉพาะร่างของพรรค ปชน. เสนอแก้ไขในมาตรา 256 (8) แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ทั้งสองร่างยังเสนอแก้ไขมาตรา 256(6) ให้ถอดอำนาจของวุฒิสภาที่จะต้องใช้เสียงในการเห็นชอบการแก้ไข รธน.ในวาระ 1 กับวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออกในการเห็นชอบผ่านร่างแก้ไข รธน.
ต้องยอมรับ แม้ 2 พรรค จะอยู่คนละขั้วการเมือง มีเสียงในสภาล่างรวมกันถึง 285 เสียง พรรค พท. 142 เสียง และพรรค ปชน. 143 เสียง แต่ลำพังเสียงของ สส. ไม่อาจเปิดประตูสู่การแก้ไข รธน.ได้ หากไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เกิน 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ โดย รธน.60 กำหนดให้การผ่านร่างแก้ไข รธน.ในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องมี สว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือต้องได้เสียงสนับสนุนจาก สว. 67 คน จาก สว. ทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในปัจจุบัน 199 คน
ขณะที่ วุฒิสภา จะมีการจัดเวทีมอร์นิ่งทอล์ก เรื่อง “มุมมองของ สว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในวันที่ 10 ก.พ. โดยมีการเชิญวิทยากรมาให้ข้อมูล ได้แก่ นายวุฒิสาร ตันไชย และ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการร่าง รธน.2560 ในฐานะที่มีประสบการณ์ต่อการร่าง รธน.รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น คำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 4/2564 โดยการจัดงานดังกล่าวจะให้สิทธิเฉพาะ สว.เข้าร่วมงานเท่านั้น โดย “นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์” สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้อาจไม่สามารถหาข้อสรุปต่อความเห็นในการแก้ไข รธน.ว่า สว.จะมีความเห็นไปในทิศทางใด ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่าการแก้ไข รธน.รายมาตรา เช่น มาตรา 256 สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มหมวดใหม่ เพราะมองว่าการเพิ่มหมวดใหม่ 15/1 เพื่อให้มีการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่นั้น ไม่ชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาล รธน.
แต่ที่น่าสนใจคือ ท่าที “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้า พท. ที่ออกให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังมีความกังวลของสมาชิกว่าสุดท้ายแล้วต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง จึงเสนอผ่านไปทางคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้ยื่นต่อศาล รธน. เพื่อวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 210 ของ รธน.
“เชื่อว่าจะทำให้ทุกคนสบายใจ เพราะหากเดินหน้าต่อไปอาจทำให้ สส. และ สว.หลายคนเกิดความกังวล ไม่กล้าพิจารณาและโหวต รธน.” ชูศักดิ์ กล่าวและว่า การยื่นวินิจฉัยครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อนที่ศาล รธน.ไม่รับไว้พิจารณา เพราะครั้งนี้ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเแล้ว ทั้งนี้การส่งศาล รธน.ตีความ สามารถยื่นได้ทันที หรือประชุมไปแล้วก็สามารถยื่นได้
ประเด็นสำคัญคือ ต้องรอดูท่าทีของ สว. จะมีจุดยืนอย่างไร กับการแก้ไข รธน. รวมทั้งจะมีพรรคการเมืองไหนยื่นเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยหรือไม่ จะต้องมีการทำประชามติแก้ไข รธน.กี่ครั้ง อีกทั้งแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ประกาศไม่เห็นด้วยกับร่างการแก้ไข รธน.ของทั้งสองพรรค
ส่วนกรณีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 27 ก.พ. นั้น โดยอาจมีการนำประเด็นการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หลัง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ยื่นข้อมูลลับให้พรรค ปชน.
โดยนายทักษิณ กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านอาจมีการพาดพิงในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เข้าไปในสภาไม่ได้ แต่อาจไปอยู่หลังสภาคอยตอบให้ ถ้าใครสงสัยอะไรมาถามได้ ส่วนจะตอบในรูปแบบใด ไม่มีอะไรต้องกังวล
เมื่อถามว่าจะต้องติวให้นายกฯ ที่ยังไม่เคยผ่านเวทีอภิปรายหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า วันนี้นายกฯ ผ่านมาเยอะแล้ว โดนมาเยอะแล้ว สบายๆ และเป็นหน้าที่ของนายกฯ ที่ต้องคอยตอบคำถาม ในฐานะพ่อไม่มีความกังวล เมื่อถามว่าจะมีการนำเรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ มาอภิปราย และอาจนำไปสู่การเมืองนอกสภา นายทักษิณ กล่าวว่า ไม่มีอะไรให้กังวล เมื่อถามกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค สร. ได้ยื่นเอกสารลับชั้น 14 ให้กับผู้นำฝ่ายค้าน นายทักษิณ กล่าวว่า “ผมเป็นตำรวจเก่า รู้จักแต่พล.ต.อ.ที่เป็นผู้ชาย พล.ต.อ.ผู้หญิงผมไม่รู้จัก” ผู้สื่อข่าวจึงถามขึ้นว่าหมายความว่าอย่างไร พล.ต.อ.หญิงหมายความว่าอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า “พล.ต.อ.หญิงไม่มี เลยไม่จัก รู้จักแต่พล.ต.อ.ชาย”
เมื่อถามย้ำว่าที่ระบุว่า พล.ต.อ.หญิง หมายถึงใคร นายทักษิณ กล่าวย้ำว่า ไม่รู้ ในประเทศไทย มีแต่พล.ต.อ.ชาย เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ที่ระบุว่ารู้จักแต่พล.ต.อ.ชาย ไม่รู้จัก พล.ต.อ.หญิง เป็นการเปรียบเปรยใช่หรือไม่ นายทักษิณ หัวเราะ และกล่าวว่า พล.ต.อ.หญิงยังไม่มี และประเทศไทยยังไม่เคยมี ใครอยากเป็นคนแรกก็เป็น เมื่อถามว่าหมายถึงคนที่ยื่นเอกสารให้กับผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า “ไม่รู้นะ ผมเป็นลูกผู้ชาย” เมื่อถามถึงความสัมพันธ์กับผู้ที่ยื่นเอกสารให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ เคยร่วมรัฐบาล นายทักษิณ กล่าวว่า เคยมีสัมพันธ์ที่ดี ขอตอบแค่นี้
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ควรอภิปรายคนที่เป็นรัฐบาลไม่ใช่คนข้างนอก นายทักษิณไม่ได้เป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี การกล่าวหาบุคคลภายนอก ที่ไม่สามารถเข้ามาโต้แย้งผิดข้อบังคับอยู่แล้ว ถ้าอยากอภิปรายคงต้องไปเขียนข้อบังคับใหม่ เพราะนายทักษิณไม่ได้บริหารกระทรวงไหน ถือเป็นคนนอก
คงต้องรอดูเนื้อหาในญัตติอภิปรายไม้ไว้วางใจ จะมีการระบุถึงการรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจหรือไม่ เพราะเกี่ยวข้องกับการกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายทักษิณก็ยืนยันว่า พร้อมชี้แจง ไม่มีอะไรน่ากังวล
สำหรับประเด็นการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งพรรค รทสช. มักถูกมองว่า เป็นเป้าในการถูกเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ซึ่ง “นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค รทสช. ทำหน้าที่อยู่ รวมกับตำแหน่งรองนายกฯ นั้น “นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค รทสช. กล่าวถึงกระแสการปรับ ครม.ที่ทุกครั้งมีชื่อพรรค รทสช.รวมอยู่ด้วยว่า ไม่รู้สึกกวนใจใดๆ ทั้งสิ้น ตนรวมถึงนายพีระพันธ์ุ เมื่ออยู่ในตำแหน่งพร้อมทำงานเต็มที่ ไม่บริหารงานบริหารชีวิตด้วยความกังวลใดๆ ฟังนายกฯ ชี้แจง มีความชัดเจนว่า ครม.ทำงานด้วยกันเป็นอย่างดี และงานในหน้าที่ของตน คือกระทรวงอุตสาหกรรมและของนายพีระพันธุ์คือกระทรวงพลังงาน ก็ได้รับการสนับสนุนจากนายกฯ ทุกเรื่อง เมื่อถามว่าหากมีการปรับ ครม.จริงๆ พรรค รทสช.จะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือไม่ นายเอกนัฏ กล่าวว่า ยังไม่คิดถึงเรื่องนั้น มีแต่กำชับในพรรคให้ทำงานอย่างเต็มที่ อย่างที่บอกเราอยู่ในการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน ในความไม่แน่นอน เราก็ต้องตั้งสติให้ดี อยู่กับปัจจุบันทำงานให้เต็มที่ ทำให้ดีทุกวันแค่นี้เองคิดมากไปกว่านี้มันจะเครียดไปเปล่าๆ
เช่นเดียวกับ “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะแกนนำพรรค พท. กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมปรับ ครม. ว่า นายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อว่าไม่มีการปรับแน่นอน และคิดว่าเป็นไปตามนั้น อำนาจการปรับ ครม.อยู่ที่นายกฯ ซึ่งในช่วงที่มีกระแสข่าวดังกล่าว ขอยืนยันว่าไม่ได้เสียขวัญ ซึ่งนายกฯ แปลกใจเพราะคนปรับ ครม.คือตัวท่านเอง ถ้าคนอื่นไปพูดก็จะดูฟังแล้วแปลกๆ เมื่อถามว่าเป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ต้องการปรับเปลี่ยนตำแหน่งใน ครม.หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขอย้ำว่า การปรับ ครม.เป็นเรื่องสำคัญและนายกฯ ก็พูดชัดเจนไปแล้วว่าไม่ปรับ ครม. และอยากให้ทุกคนทำงาน
คำถามคือ กระแสข่าวการปรับ ครม. เกิดจากคนในหรือคนนอกเป็นคนปล่อย แต่ที่แน่ๆ คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ยืนยัน ยังไม่มีการปรับ ครม. และยังรู้สึกแปลกใจ เพราะอำนาจในการปรับอยู่ตนเอง
“ทีมข่าวการเมือง”