สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ว่านายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีหมายเลขหนึ่งของโลก ซึ่งตอนนี้เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคนสนิทของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กล่าวถึงสถานการณ์ของแอปพลิเคชันติ๊กต็อกในอเมริกา ว่าโดยส่วนตัวเขาไม่ได้ใช้งานติ๊กต็อก และไม่มีแผนที่จะซื้อกิจการของแอปพลิเคชันดังกล่าวในสหรัฐ


ทั้งนี้ มัสก์ซื้อกิจการของทวิตเตอร์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็กซ์ในเวลาต่อมา ด้วยราคา 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.49 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2565 โดยในเวลานั้นมัสก์ให้เหตุผลว่า “เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”


อนึ่ง ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ในวันแรกของการรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา เลื่อนการแบนติ๊กต็อกออกไปอีกอย่างน้อย 75 วัน จากที่กฎหมายซึ่งบัญญัติโดยสภาคองเกรส เมื่อปีที่แล้ว กำหนดให้ต้องมีผล เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม อนาคตของติ๊กต็อกยังไม่แน่นอน เนื่องจากยังคงมีเงื่อนไขสำคัญ คือการที่บริษัทไบต์แดนซ์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่งของจีน และเป็นเจ้าของติ๊กต็อก ต้องขายกิจการในสหรัฐ


ก่อนหน้านี้ ทรัมป์กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวเขา “ไม่มีปัญหา” หากมัสก์ ต้องการซื้อกิจการของแอปพลิเคชันดังกล่าว พร้อมทั้งเผยด้วยว่า ไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในบริษัทขนาดใหญ่ที่แสดงความสนใจ


แม้ชาวอเมริกันยังคงใช้งานติ๊กต็อกได้ แต่จะไม่สามารถอัปเดตแอปพลิเคชันได้ และต้องเป็นกรณีที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเก็บไว้ก่อนกฎหมายมีผลเท่านั้น เนื่องแอปเปิลและกูเกิลต้องถอดติ๊กต็อก ออกจากแอปพลิเคชันสโตร์และเพลย์สโตร์ มิเช่นนั้นอาจต้องเสียค่าปรับสูงถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 169,450 บาท) ต่อการดาวน์โหลด 1 ครั้ง.

เครดิตภาพ : AFP