ที่ลานวัฒนธรรรมบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน นายราชั้นย์ ซุ้นหัว ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกโลกบ้านเชียง ประจำปีพุทธศักราช  2568 ภายใต้โครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ จ.อุดรธานี มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและไมซ์ในระดับนานาชาติ โดยมีนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ว่าที่ ร.ต.รักชัย เลิศสุบิน ปลัด จ.อุดรธานี นายธนชาต บริสุทธิ์ นายอำเภอหนองหาน นางณัฏฐ์ชุดา นันทนิ ท่องเที่ยวและกีฬา จ.อุดรธานี นางสาวกนกวลี สุริยะธรรม ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง พ.ต.สุเมธ คำพิมาน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชียง นายสมัคร บุญปก รองนายกองค์การบริหารส่วน จ.อุดรธานี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมพิธีนับหมื่นคน

นางรวงทอง พลธิราช วัฒนธรรม จ.อุดรธานี กล่าวว่า จ.อุดรธานีมีแหล่งมรดกโลกที่สำคัญถึง 2 แห่ง คือ “มรดกโลกบ้านเชียง” และ มรดกโลกภูพระบาท โดยแหล่งมรดกโลกบ้านเชียงถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งแรกของ จ.อุดรธานี เป็นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง มีที่มาจาการค้นพบเศษภาชนะเขียนสี เมื่อปีพุทธศักราช 2503 จนมาสู่การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปีพุทธศักราช 2535 เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งแรกของ จ.อุดรธานี อยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และลำดับที่ 359 ของโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างนิยมมาสัมผัสกับความเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตไทพวนบ้านเชียง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกโลกบ้านเชียง จึงเป็นการอนุรักษ์สืบสาน ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกโลกบ้านเชียงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมถึงปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของแหล่งมรดกโลก และร่วมกันรักษาแหล่งมรดกโลกให้เป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองตลอดไปอย่างยั่งยืน               

ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ สำนักงานวัฒนธรรม จ.อุดรธานี ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ องค์การบริหารส่วน จ.อุดรธานี ที่ทำการปกครอง อ.หนองหาน สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่นโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานอุดรธานี สถานบันการศึกษา และที่สำคัญคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอหนองหาน ทั้ง 15 แห่ง ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวงบรรพบุรุษชาวบ้านเชียง ณ หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน และการบวงสรวงปู่ขุนเชียงสวัสดิ์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง การจัดขบวนแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง การแสดงแสง สี เสียง สื่อผสมชุด “ย้อนรอยบ้านเชียง มรดกโลกแห่งแรกของอุดรธานี” การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงวิถีชีวิต “วิถีคนวิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก” การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นและศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การจัดนิทรรศการวิชาการ “คนโบราณที่บ้านเรา” กิจกรรม “จุ้มบ้านเชียงเทื่อที่ 2” / กิจกรรมการประกวดและการแข่งขันต่าง ๆ รวมไปถึงการออกร้านจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ชุมชน               

การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกโลกบ้านเชียง จึงเป็นการส่งเสริมคุณค่าของแหล่งมรดกโลก สืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น สร้างสรรค์และต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านการสร้างความตระหนักและรับรู้ในคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน