จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง  มีคำสั่งพิพากษา น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องมาตรา 157 หลังปฏิบัติหน้าที่ออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกในทรูไอดี ลักษณะเจตนากลั่นแกล้งเสียหาย โดยศาลฯ ได้อนุญาตให้ น.ส.พิรงรองประกันตัว หลักทรัพย์ 1.2 แสนบาท และห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ศาลฯ ได้อนุญาต ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.พ. แหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยว่า หลังศาลมีคำตัดสินออกมาในลักษณะดังกล่าว คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ น.ส.พิรงรอง ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่ในระหว่างอุทธรณ์คดี ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว คดีศาลฯ ยังไม่ตัดสินจนถึงที่สุดก็ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในด้านสังคมอาจถูกตั้งคำถามต่อเรื่องจริยธรรม เมื่อศาลฯ ได้ตัดสินในชั้นต้นแล้ว และในกรณีที่มีเรื่องต้องพิจารณาหรือลงมติเกี่ยวกับทรู ที่เป็นคู่กรณีจะต้องดำเนินการอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องตีความถึงข้อกฎหมาย ซึ่งต้องติดตามดูว่าในการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกหลังศาลฯ ได้มีคำสั่งพิพากษา ทาง น.ส.พิรงรอง จะร่วมเข้าประชุมบอร์ดเหมือนเช่นปกติหรือไม่

“บอร์ด กสทช.ทุกคนให้กำลังใจกับ น.ส.พิรงรอง ในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ทุกอย่างคงต้องขึ้นอยู่กับ น.ส.พิรงรอง จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งหากดูในข้อกฎหมาย เรื่อง ส่วนคุณสมบัติของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 7 (6) และ (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ว่า เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ซึ่งในวันตัดสินทาง น.ส.พิรงรอง ยังไม่ถูกคุมขังแต่อย่างใด และตอนนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี ซึ่งอาจจะต้องมีการตีความกฎหมายในเรื่องนี้ต่อไป”

ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดงานสัมมนาในหัวข้อ พิรงรอง Effect ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ …  โดยทาง ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สังคมไทยจับตามองคดีหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรง สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของกฎหมายในการจัดการข้อพิพาท และแนวทางในการแสวงหาความยุติธรรม ซึ่งหลักการสำคัญของกฎหมาย โดยอัญเชิญแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานไว้เกี่ยวกับบทบาทของกฎหมายว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการแสวงหาความยุติธรรม มิใช่ตัวความยุติธรรมโดยแท้

“การบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึง เจตนารมณ์ บริบท และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ตีความตัวบทตามอักษรเพียงอย่างเดียว หากยึดติดเพียงตัวหนังสือโดยไม่คำนึงถึงสาระสำคัญ อาจทำให้ความยุติธรรมหล่นหายไป

โดยหลายกรณีที่มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ไม่ได้มีเป้าหมายแค่แพ้หรือชนะ แต่ยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ ที่แฝงอยู่ เช่น การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือผลกระทบทางสังคม นักกฎหมายต้องระวังอย่าให้ตัวเองเป็นเพียงกลไกในการดำเนินคดีที่เบี่ยงเบนจากเส้นทางของความยุติธรรม” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าว

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand กล่าวว่า คำพิพากษาที่เกิดขึ้นกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักนิติธรรม (Rule of Law) และมาตรฐานความยุติธรรมในระบบกฎหมายไทย  ซึ่งตามหลักแล้วในองค์กรกำกับดูแล คือ รัฐ และผู้ถูกกำกับ คือ เอกชน สามารถมีความเห็นขัดแย้งหรือไม่ตรงกันได้ แต่จะมีวิธีในการโต้แย้ง คือ ทำหนังสือหน่วยงานกำกับทบทวน ไปจนถึงฟ้องศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาตัดสิน แต่กรณีนี้เอกชนไปฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ เลย ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุฟ้อง กสทช.ชุดก่อนลักษณะคล้ายๆ กัน แต่เมื่อศาลปกตรองตัดสินแล้ว ข้อพิพาทนั้นเอกชนก็ถอนไป

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ บทบาทของ กสทช. ที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักเรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและสื่อ การที่สังคมตื่นตัวกับบทบาทขององค์กรนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานเรื่องธรรมาภิบาลและการดำเนินงานที่ไม่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล กรณีนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงบทบาทขององค์กรกำกับดูแลนี้อย่างจริงจัง

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ต้นเหตุที่เป็นปัญหาที่เอกชนหยิบมาฟ้องร้องคือ แพลตฟอร์ม OTT และ Streaming Online แต่ยังไม่มีมาตรการและกฎหมายกำกับดูแลที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้มีการพูดคุยตั้งแต่ กสทช.ชุดก่อนแต่ไม่สำเร็จ ขณะที่ กสทช.ล่าสุดนี้ก็มีการศึกษาและพยายามจะกำกับดูแล ซึ่งอาจารย์พิรงรองกำลังทำอยู่ แต่มาถูกฟ้องคดี  หาก กสทช.ยังปล่อยให้เกิดความล่าช้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ประเทศไทยอาจเสียโอกาสครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้

ด้าน รศ.ดร.ณรงค์เดช สรโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คดีนี้แนวทางปกติที่ควรเป็นเรื่องของศาลปกครอง หากเห็นว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาชน และเอกชน อาจขออุทธรณ์ภายในหน่วยงาน การฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่ง แต่ในกรณีนี้กลับถูกดำเนินคดีในศาลอาญา ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่พบได้บ่อย  ขณะที่ตั้งสังเกตว่า คดีนี้ฟ้องร้องตัว กสทช. แต่ไม่ได้ฟ้องผู้เซ็นจดหมายออกหรือเป็นผู้สั่งการจริงๆ เพราะตามหลักความรับผิดทางอาญา ผู้ที่ออกคำสั่งและลงนามในเอกสารทางราชการควรเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง แต่คดีนี้กลับมุ่งเป้าไปที่องค์กรกำกับดูแล ทำให้เกิดข้อกังขาว่าอาจเป็นแนวทางใหม่ในการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐให้ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกันการออกหนังสือดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์สาธารณะที่อาจถูกเอกชนเอาเปรียบเรื่องโฆษณา เป็นการส่งหนังสือไปยังเอกชนที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล ไม่ได้ส่งให้ทางทรู อย่างไรก็ตามคงต้องไปดูคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลฯ ด้วย อาจมีคำอธิบายเรื่องคดีทั้งหมด

“ผลกระทบของคดีนี้อาจส่งผลไกลกว่า กสทช. เพราะในอนาคตเจ้าหน้าที่รัฐอาจลังเลที่จะดำเนินงานด้านกำกับดูแลที่กระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ หากความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องมีมากขึ้น เช่น หน่วยงานที่ควบคุมมลพิษอาจหลีกเลี่ยงการเอาผิดโรงงานที่ปล่อยสารพิษ หรือเจ้าหน้าที่กำกับดูแลสื่ออาจไม่กล้าออกมาตรการควบคุมโฆษณาที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค เป็นต้น สุดท้ายประชาชนก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองในทางที่ควรจะเป็นจากภาครรัฐ”

รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวต่อว่า  สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สำนักงาน กสทช. เพราะมีปัญหามาก จากที่ดูติดตามข่าว ต้องมีการปฏิรูปการทำงาน เพราะไม่รู้ว่าเพราะไม่รู้ว่าใครจะเอาข้อมูลการประชุมไปบอกสื่อ บอกนายทุน  หรืออาจทำให้ทุนเข้าไปครอบงำได้ แต่หากเราทำหน้าที่โดยสุจริตเชื่อว่าจะเป็นเกราะที่คุ้มครองเราได้  สำหรับคำถามที่ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อหรือไม่นั้น  หากดูกฎหมายของ กสทช. ทาง น.ส.พิรงรอง ยังไม่ได้ถูกคุมขัง หรือออกหมายขังจากศาล จึงยังปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ได้อยู่ และการหยุดปฏิบัติหน้าที่ต้องมีคำสั่งจากศาล

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติเชื่อว่าหากมีการลงมติที่เกี่ยวกับคู่กรณีอาจมีคำถามว่าทำได้หรือไม่ และการลงมติของบอร์ด ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 4 เสียง จาก 7 เสียง ซึ่งหาก น.ส.พิรงรอง หยุดปฎฏิติหน้าที่ เหลือ กสทช.เพียง 6 คน และต้องลงมติในเรื่องสำคัญๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการตีความ และจะเป็นปัญหาตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน

ด้าน นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจ OTT (Over-the-Top) หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เช่น YouTube, Netflix และ Prime Video กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ กฎหมายไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจและการควบคุมเนื้อหาภายในประเทศ

“OTT แตกต่างจาก IPTV (Internet Protocol Television) ซึ่งเป็นบริการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีกฎหมายรองรับ แต่ OTT นั้นพัฒนามาไกลเกินกว่าที่กฎหมายเดิมจะควบคุมได้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กสทช. ได้ศึกษาแนวทางการกำกับดูแล OTT และจัดทำร่างข้อกำหนดขึ้นเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2566 แต่จนถึงปัจจุบัน ร่างดังกล่าวยังไม่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ทำให้ OTT สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่มีข้อบังคับใดๆ”

ปัญหาสำคัญคือ OTT ไม่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานรัฐไม่มีอำนาจกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในเรื่องของเนื้อหาและโฆษณา แตกต่างจากประเทศอื่น เช่น อังกฤษ และออสเตรเลีย ที่มีกลไกปรับดูแลตามบริบททางวัฒนธรรมของประเทศตนเอง การปล่อยให้ OTT เติบโตแบบไร้การกำกับดูแลนี้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างหนัก

หนึ่งในผลกระทบสำคัญ คือ ทีวีดิจิทัลที่กำลังรอการต่อสัญญาในปี 2572 ซึ่งต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการประมูลใหม่ในปี 2570 อย่างไรก็ตาม เจ้าของช่องโทรทัศน์ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีแนวทางดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร เนื่องจาก OTT ดึงเม็ดเงินโฆษณาออกจากโทรทัศน์แบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง

ค่าโฆษณาบน OTT มีราคาถูกกว่า ทำให้ธุรกิจต่างๆ หันไปลงโฆษณากับแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ รายได้ของทีวีดิจิทัลลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน และหากไม่มีมาตรการรองรับ อุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมของไทยอาจถึงจุดล่มสลาย

“กสทช. จะเริ่มกำกับดูแล OTT กี่โมง และแนวทางที่ชัดเจนจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะหากยังคงปล่อยให้ธุรกิจ OTT เติบโตโดยไม่มีมาตรการควบคุม ขณะที่ทีวีดิจิทัลยังติดอยู่กับกรอบกฎหมายเดิม ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสื่อสารมวลชนไทยอาจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์” นายระวี กล่าว