จากกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายประเทศคู่ค้า และจะมีเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า ทำให้การค้าทั่วโลกต่างตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
“บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นในเรื่องนี้ โดยระบุว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 จะยังคงใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐ ซึ่งได้เห็นนโยบายต่างประเทศ ของสหรัฐ มีการใช้ภาษีนำเข้า เป็นเครื่องมือในการเจรจา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและความมั่นคง ในประเด็นเรื่องคนลักลอบเข้าเมืองและปัญหายาเสพติด รวมถึงความต้องการขยายดินแดนและอิทธิพลไปนอกสหรัฐ อาทิ คลองปานามา กรีนแลนด์ และแคนาดา
ในแนวคิดของรัฐบาล ทรัมป์ วาระแรก ได้มีการขึ้นภาษีนำเข้า โดยเฉพาะจากจีน และมีการเปลี่ยนสนธิสัญญา ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA (North American Free Trade Agreement) มาเป็น ข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา หรือ USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) โดยสงครามการค้า มีผลลบกับเศรษฐกิจสหรัฐ น้อยกว่าประเทศอื่นที่ค้าขายกับสหรัฐ
สะท้อนจากแนวคิด ที่นาย Robert Lightizer ซึ่งเป็นมันสมองของการวางกลยุทธ์สงครามการค้ารอบแรก ได้กล่าวว่า สหรัฐ ควรจะมองจีนเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่ง ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคง เนื่องจากการที่สหรัฐ ขาดดุลการค้ากับจีนมากๆ ไม่เป็นผลดีกับสหรัฐ ในระยะยาว เพราะฉะนั้นนโยบายต่างๆ จึงต้องการบรรลุเป้าการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน และลดการขาดดุลการค้า
นอกจากนั้น สหรัฐ ยังต้องการให้มีการสร้างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ และยังมีแนวคิดที่ว่า แม้แต่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐ ก็ได้มีการเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ
ผลกระทบต่อไทย สาเหตุเพราะอะไร?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทย น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุเกิดจาก
- ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก
แนวทางรับมือทรัมป์ของไทย
- เปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐ มากขึ้น
- เพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐ
“นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และการทหาร ให้กับสหรัฐ เป็นหลัก เราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่สหรัฐ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรองให้สหรัฐได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด” บุรินทร์ สรุปทิ้งท้าย