หลังเลือกตั้งนายกองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.68 ที่ผ่านมา เห็นมีหลายคนเป็นห่วง “นายใหญ่”นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สิ้นมนต์ขลัง แล้วหรือไม่ ถึงแพ้ในจังหวัดที่คาดหมายคือ จ.เชียงรายกับ จ.ศรีสะเกษ แต่เรื่อง อบจ.นั้น ทาง “เลขาฯบอย” สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตัดบทจบเร็วที่สุด “ยอมรับความพ่ายแพ้ และจะถอดบทเรียนเพื่อทำงานในพื้นที่ต่อไป”
ขณะที่ทางฝ่ายพรรคประชาชน ( ปชน.) ที่ศึกนี้ชนะจังหวัดเดียว คือ จ.ลำพูน ก็ถือว่าพอมีอะไรให้กองเชียร์พรรคส้มดีใจบ้าง แต่ก่อนจะไปหอมกลิ่นความเจริญกันที่ จ.ลำพูน ก็ต้องเข้าใจขอบเขตงานของ อบจ.ก่อนว่าอะไรทำได้แค่ไหน และอะไรที่ส่วนกลางต้องกำหนดลงไป จะได้รู้ว่า “ควรหวังไว้แค่ไหน” แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จ.ลำพูน คือหมุดหมายแรกการเมืองในระดับท้องถิ่นของ ปชน.
แต่ศึก อบจ. กลับกลายเป็นเข้าทำนอง พรรคจบ แต่ “คน” ไม่จบ” เริ่มจากการที่นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ออกมาโพสต์เรื่องศึกเลือกตั้งนายก อบจ. ที่พรรค ปชน.ส่งไปหลายจังหวัด ชนะคนเดียว ว่า “แพ้ศึก แต่ชนะสงคราม” ซึ่งการประดิดประดอยวาทกรรมประเภทนี้ นายชำนาญ ก็เคยสร้างวาทกรรม ตอนเลือก อบจ.ปี 2563 ว่า “เราไม่ได้แพ้ แค่ยังไม่ชนะ”
ซึ่ง วาทกรรม “แพ้ศึก แต่ชนะสงคราม”ไม่รู้หมายความว่าอะไร ไปถามคนชอบเล่นตีสำนวน เขาว่าน่าจะมาจากสามก๊ก ประมาณว่า ไม่ชนะในศึกเล็กย่อย แต่ถอยเพื่อดูเชิง เพื่อจะชนะสงครามสนามใหญ่กว่านี้ ก็น่าจะเป็นไปอย่างที่ “เสี่ยเอก”ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า มองว่า การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ พรรค ปชน.ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น พร้อมๆกับการตีโวหารอีกว่า “ไม่เรียกว่าแพ้ แต่ไม่เป็นไปตามเป้า”จะให้ตีความลึกซึ้งไปถึงไหน คงหมายความว่า“ชนะเขตเดียวก็ถือว่าชนะ แต่ได้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้” เหมือนสร้างคำคมปลอบขวัญกันเองไปเรื่อย เมื่อไม่เป็นไปตามเป้า ถ้าเอาตามที่นายชำนาญพูดข้างบน ก็น่าจะหมายถึงว่าคะแนน อบจ.ครั้งนี้เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะประดิษฐ์คำอย่างไรก็ตาม ความหมายสุดท้ายก็คือแพ้ ซึ่งควรต้องระวังว่า “ทำแบบนี้สักวันจะทำให้ทั้งพรรค ทั้งกองเชียร์กลายเป็นตัวตลก” เหมือนหาวิธีคิดให้มีความสุขอยู่ในโลกตัวเอง เสพข้อความทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเข้าข้างตัวเองแล้วคิดว่า มันคือ“การเมืองที่ควรเป็น” ทั้งที่ควรจะตื่นมาพบกับ“การเมืองที่เป็นอยู่จริง”
ถ้าจะเอาแพ้ศึก ( เล็ก ) ชนะสงคราม ( ใหญ่ ) ก็ต้องทำหลายอย่างเพื่อปรับปรุง เริ่มจากเปลี่ยนแนวคิด “คิดต่างจากเราไม่ใช่ประชาธิปไตย” แล้วดูถูกดูหมิ่นขั้วการเมืองตรงข้ามกับตัวเอง ซึ่งเป็นนิสัยที่ทำให้เกิดความแตกแยก และต่อไปถ้าคนเบื่อ จนเกิดปรากฏการณ์ “ค่ายส้ม” มากขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นพรรคอันดับรั้งท้ายเอา เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทางการเมือง
เมื่อแพ้เลือกตั้ง จะต้องหันมาศึกษาบทเรียนที่แพ้จากภายในของตัวเอง ไม่ใช่มองแค่ปัจจัยภายนอก เช่น การไปเลือกตั้งวันเสาร์ คนเลยมาน้อย และโทษ กกต.ทั้งๆที่ กกต. ก็มีเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งก็ยังมีบรรดาแฟนคลับสงสัยว่า “ถ้าพรรคส้มเป็นประชาธิปไตยมากกว่าใคร ทำไมถึงไม่พยายามมาเลือกตั้งวันเสาร์” หรือไปโทษบัตรเสียเยอะ ทั้งที่ไม่รู้ว่า “บัตรที่เสียนั้นได้เลือก ปชน.หรือไม่ ?”
ขณะเดียวกันก็ต้องมองมาที่การเมืองภาพใหญ่ สส. ต้องทำงานในพื้นที่ ควบคู่กับการโชว์ผลงานการทำงานของ สส. เพิ่มขึ้น เพราะโจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้งระดับชาติ ข้อหนึ่งคือการเกี่ยวข้องกับการเลือก “นายกรัฐมนตรี”
ซึ่งขณะนี้ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน มีมาดความเป็นผู้นำที่จะชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แล้วหรือไม่ เพราะยังถูกมองว่า “นุ่มนิ่ม ไม่น่าดึงดูด ทำงานหลังบ้านมานานจนไม่โดดเด่น”
ดังนั้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดือน มี.ค.นี้ จึงเป็นเวทีสำคัญที่ “หัวหน้าเท้ง” จะต้องเติมมาดผู้นำเต็มร้อยให้ได้ด้วยข้อมูลดีๆ ไม่ใช่ตีโวหารไปวันๆ.