เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ห้องพิจารณาคดี 303 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้อง ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

กรณีจำเลยออกหนังสือแจ้งไปยังบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอป ทรู ไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์ม แอป ทรู ไอดีของตนเอง ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยัง บริษัท ทรู ดิจิทัล โจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย อาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้รับความเสียหาย

พิเคราะห์จากการไต่สวนโจทก์และจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทนิติบุคคล ประกอบกิจการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทผ่านอินเทอร์เน็ต โดย แอป ทรู ไอดี ให้บริการเมื่อปี 2559 ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยมีลักษณะเป็น OTT คือการโหลดแอปผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ไม่มีการจัดการโครงข่ายเป็นการเฉพาะ ซึ่ง กสทช.ไม่เคยกำหนดให้ แอปพลิเคชัน ดังกล่าวต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด แตกต่างกับการส่งโครงข่ายผ่านเคเบิล ที่ต้องมีกล่องรับสัญญาณ จึงต้องขออนุญาตจาก กสทช.ให้เผยแพร่เป็นลักษณะ TPTV การให้บริการ OTT จึงไม่ได้อยู่ในการบังคับการประกอบกิจการของ กสทช. ส่วนจำเลยเป็นกรรมการ กสทช. มีหน้าที่กำหนดจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดลักษณะกิจการโทรทัศน์ จำเลยเป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ในการอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จากการประชุมคณะอนุกรรมการ กสทช.ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 จำเลยเป็นประธานการประชุม มีหัวข้อการประชุมเรื่องการแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตใน แอป ทรู ไอดี ที่ประชุมเห็นว่าปัจจุบันมีการประกอบกิจการลักษณะ OTT จำนวนมาก หากเอาแต่ แอป ทรู ไอดี มาพิจารณาเพียงรายเดียว อาจจะมีการยกมาเป็นข้อกล่าวอ้างได้ จึงมีมติให้ศึกษาแนวทางการเผยแพร่ของ แอป ทรู ไอดี ให้รอบคอบ ครอบคลุมและมีหนังสือแจ้งตามประกาศข้อ 23 ของ กสทช.แสดงให้เห็นว่าการประชุมของ กสทช.ยังไม่ได้สรุปว่า แอป ทรู ไอดี ต้องขอใบอนุญาตหรือไม่ อย่างไรและให้การศึกษาเรื่องผลกระทบจาก OTT ก่อน โดยในการประชุมครั้งที่ 4 จำเลยได้มีการตำหนิที่ทำหนังสือไม่ได้เจาะจงชื่อของ แอป ทรู ไอดี ของโจทก์ จึงให้มีการแก้ไข ทั้งที่การประชุมในครั้งที่ 4 ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใดเป็นการทำเอกสารเป็นเท็จที่จำเลยทราบดี และจำเลยได้มีมติรับรองการประชุมเท็จดังกล่าว

พยานหลักฐานรับฟังได้มั่นคงว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการใช้มีการจัดทำบันทึกให้รองเลขาธิการ กสทช. ลงนามในหนังสือดังกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ จำเลยมีหน้าที่นำเสนอต่อกรรมการ กสทช.ต่อไป แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่จากข้อความที่ว่า

เปิดเหตุผลศาลสั่งจำคุก ‘พิรงรอง’ 2 ปี ถูก ‘บริษัท True’ ฟ้อง ม.157

“วิธีการที่เราต้อง Enforce เรื่องนี้ มัส แครี มีเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตจาก กสทช. เท่านั้นเมื่อ True ID ไม่ได้รับอนุญาต มันเหมือนว่าเคลียร์คัท คุณตั้งเป็น OTT คุณทำผิดเงื่อนไขใบอนุญาตสิทธิ์มัส แครี คุณไปทำผิดกฎหมายมันทำไม่ได้ คุณต้องพิจารณาว่า จะมาเข้าสู่ระบบหรือไม่ เมื่อคุณปล่อยให้เนื้อหาเอาไปออกในที่ไม่ควรออก”

ข้อความดังกล่าวอนุมานได้ว่า ผู้ประกอบการจะวิตกกังวล มัส แครี นำช่องฟรีทีวีไปออกอากาศในช่องที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ เป็นการใช้หน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายชัดแจ้ง ดังนั้นแนวทางที่จำเลยดำเนินการมีคำว่า “ตลบหลัง” หรือ “ล้มยักษ์” สื่อความหมายชัดเจนว่าจำเลยประสงค์ให้กิจการของโจทก์เสียหาย ทั้งที่มีผู้ท้วงแล้ว แต่แทนที่จำเลยจะปฏิบัติตามด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่กลับใช้อำนาจในการกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ที่จำเลยต่อสู้ว่า ไม่มีสิทธิ์ไปโน้มน้าว ไม่ได้สั่งการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ กสทช.ทำหนังสือ ไม่ได้แก้รายงานการประชุม ไม่ได้พูด “ตลบหลัง” หรือ “ล้มยักษ์” เป็นการเปรียบเปรย ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ เห็นว่า เป็นการต่อสู้ลอยๆ พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักให้หักล้างพยานหลักฐานโจทก์

พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฟังคำพิพากษา จำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ตีราคา 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ต่อมาเวลา 11.30 น.เศษ ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง โดยภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง เดินทางลงจากบันไดศาลมีสีหน้าเศร้า โดยนักข่าวพยายามเข้าไปสัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ศาลลงโทษ และกระแสข่าวการถูกกดดันให้ไล่ออก แต่ทางผู้ติดตามได้พาขึ้นรถกลับโดยระบุว่าขอไม่ให้สัมภาษณ์เนื่องจากให้สัมภาษณ์ไปช่วงเช้าแล้ว