วันนี้หลายคนที่ดื่มน้ำดื่มจากขวด อาจเผชิญกับปัญหาฝาขวดติดกับขวดกับคอขวด ทำไมเปิดออกมาไม่หลุดออกมาเหมือนเคย บางคนจึงมุ่งมั่นที่จะบิด หรือใช้แรงดึงเพื่อให้ฝาขวดหลุดแยก ออกจากกัน แต่ช้าก่อน !!นั่นคือการกระทำที่ผิด เพราะสิ่งนี้คือ “นวัตกรรมลดขยะ”จากฝาขวด หรือเรียกว่า Tethered caps หรือฝาเครื่องดื่มแบบผูกติดกับขวด

Tethered caps เป็นเรื่องจริงจัง…ถึงขนาดที่ สหภาพยุโรปหรือกลุ่มประเทศอียู ประกาศเป็นกฏหมายบังคับ สำหรับเครื่องดิ่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวความจุไม่เกิน 3 ลิตร ที่วางขายในกลุ่มประะเทศอียู โดยฝาปิดจะต้องผูกติดกับภาชนะระหว่างเปิดใช้งานและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สะดวกต่อการรีไซเคิลไปพร้อมกับภาชนะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา
ที่มาของกฏหมายตัวนี้ เพราะอียูพบว่า ขยะจากฝาน้ำเครื่องดื่มที่มาจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง พบมากสุดในชายหาดในกลุ่มประเทศอียู คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยลดขยะพลาสติกที่พบบนชายหาดของ EU ได้ 10% และสะดวกต่อการรีไซเคิลฝาขวดและภาชนะไปพร้อมกัน ขณะที่ทั่วโลกพบปริมาณการใช้ 1.3 แสนล้านฝาต่อปี และฝาขวดน้ำเป็นหนึ่งใน 5 ของขยะที่พบมากในชายหาดทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยแบรนด์น้ำดื่มแบรนด์ คริสตัล ได้ประกาศเปืดตัวแคมเปญเมื่อปลายปีที่ผ่าน “เซฟพื้นที่สีฟ้า Crystal Save Blue Space” ซึ่งภายในพื้นที่สีฟ้านี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตมากมายนานาชีวิตที่อาศัยอยู่ แต่เรากลับพบว่าขยะพลาสติกในท้องทะเลเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของสัตว์ทะเล
เอสซีจีซี (SCGC) ได้ร่วมกับ SACMI IMOLA S.C. ผู้ผลิตเครื่องจักร แม่พิมพ์ และผู้ออกแบบฝาขวดพลาสติกให้กับแบรนด์เครื่องดื่มชั้นนำของโลก ได้พัฒนาฝาขวดน้ำอัดลมรักษ์โลก ซึ่งเป็นดีไซน์ใหม่ภายใต้แนวคิดการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Design โดยฝาได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ เมื่อผู้บริโภคเปิดฝาขวด ส่วนวงแหวนของฝาจะยังคงยึดติดกับคอขวด (Tethered Caps)
เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) ได้ออกแบบกล่องบรรจุกะทิ กล่องนม ให้มีฝาติดอยู่กับกล่องเพื่อป้องกันฝาปิดที่เป็นขยะชิ้นเล็กไม่กลับไปสู่การรีไซเคิล

ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวถึงการเกิดขึ้นของ Tethered caps ในประเทศไทยว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้ขวดน้ำที่ผลิตมาจากพลาสติก PET (Polyethylne Terephthalate มีลักษณะเป็นพลาสติกใส แข็ง ทนแรงกระแทกดี ไม่เปราะแตกง่าย สามารถนำไปรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ ผลิตออกมาเป็นเม็ดพลาสติก แปรรูปออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ ทำเป็นเส้นใยสำหรับเครื่องนุ่งห่ม) กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซนต์ เพราะในกระบวนการรีไซเคิลจะนำพลาสติกชนิดนี้ เข้าเครื่องโม่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆขนาดประมาณเท่าเล็บนิ้วโป้ง ซึ่งกระบวนการแยกใช้น้ำ พลาสติกที่เป็น PET จะจมน้ำ จากนั้นจะนำชิ้นส่วนนี้ไปเข้าเครื่องโม่ เพื่อผลิตออกเม็ดพลาสติกนำกลับมาใช้ใหม่
ในมุมของซาเล้ง ชัยยุทธิ์ กล่าวว่า Tethered caps ไม่ได้เกิดผลดีผลเสียต่อซาเล้ง เพราะฝาที่ติดมากับขวด แม้มีราคาที่ต่างจากราคาของขวดPET มากกว่าก็ตาม โดยขวด PET ร้านรับซื้อของเก่ารับซื้ออยู่ที่กก.ละ 10 บาท นำไปขายเข้าโรงงานจะได้กก.ละ15-16 บาท ขณะที่ฝาขวดน้ำรับซื้อกินที่กก.ละ 5 บาท ซึ่งซาเล้ง 1 คันรับน้ำหนักขวดPET ได้เพียง20-30 กก.
ดังนั้นการที่มีฝาติดมากับขวดPET ไม่ถือว่าเป็นปัญหาหรือกินพื้นที่ของซาเล้ง แต่ในมุมของโรงงานรีไซเคิล อาจไม่ชอบเพราะรับซื้อในราคา 15 บาทเท่ากันกับฝา เมื่อมีปริมาณรับซื้อเยอะยกตัวอย่างเช่นซื้อขวดPET มาน้ำหนัก 100 ตัน แต่อาจมีพลาสติกที่เป็นฝาขวดที่ไม่ใช่เป็นพลาสติก PET เพิ่มขึ้นมา 2 ตันอันนี้เราไม่ต้องสนใจปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่เอง เมื่อผู้ประกอบการรับไม่ได้จะมีการลดราคาเองอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตามราคารับซื้อขวด PETหน้าโรงงานที่ 15-16 บาทต่อกก.เป็นแรงจูงใจให้มีการเก็บขวดPET เมื่อสู่กระบวนการรีไซเคิล แต่ถ้ามีกลไกที่ทำให้ราคาขวดPETที่ราคารับซื้อที่โรงงานอยู่ 10 บาทต่อกก. นั่นจะทำให้ระบบรีไซเคิลมีปัญหา เพราะราคาไม่จูงใจให้เก็บมาขาย เพราะนั้นหมายถึงราคาร้านรับซื้อของเก่าต้อง5-6 บาทต่อกก.เท่านั้น โชคดีว่าประเทศไทยห้ามนำเข้าเศษพลาสติกใช้แล้วไปเมื่อเดือนธ.ค.2567 แต่ก็คนบางกลุ่มที่พยายามวิ่งเต้นเพื่อให้เปิดการนำเข้า
“ Tethered caps ทำให้เกิดการกระบวนการรีไซเคิล 100 เปอร์เซนต์ที่ผ่านมา เราพบว่าฝาขวดน้ำดื่มไปรวมกับขยะทั่วไป แต่ปัญหาที่พบขณะนี้คนรู้น้อย รู้เฉพาะในกลุ่มคนเมืองโดยเฉพาะคนในต่างจังหวัดที่ไม่รู้ ยังพยายามที่จะดึงฝาขวดออกจากกัน รวมทั้งตัวเองไม่รู้ว่ามีนวัตกรรมนี้จนกระทั่งมาดูในโซเชียลจึงเข้าใจว่าเมืองไทยทำแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้อย่างทั่วถึง” นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าว
อย่างไรก็ตาม ฝาเครื่องดื่มแบบผูกติดได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากการแข่งขันฟุตบอลยูโรปีที่ผ่านมา เมื่อผู้เล่นดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่มีฝาติดอยู่ ทำให้ไม่มีฝาขวดที่เกลื่อนกลาดอยู่ข้างสนาม