เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่จังหวัดตรัง นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อติดตามภารกิจ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพื้นที่จังหวัดตรัง ระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. 2568 พร้อมจัดเสวนาในประเด็น สถิติเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 การบุกรุกที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ หาดเจ้าไหม พื้นที่เกาะกระดาน, ความเสี่ยงในการจัดจ้างต่อเติมงานก่อสร้างหอศิลป์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ โดยนายสาโรจน์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่จังหวัดตรังเป็นโอกาสครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ ป.ป.ช.ทำงานหลายมิติทั้งป้องกัน ปราบปราม การตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อรักษาสมบัติชาติ อย่างที่ทราบไม่ว่าจะมีการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากน้อยแค่ไหน แต่ปัญหาการทุจริตในบ้านเรายังเป็นปัญหาสำคัญ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้น การทำงานปราบปรามการทุจริตจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ถ้า ป.ป.ช. มัวแต่ปราบอยู่ฝ่ายเดียวก็ไม่มีทางหมดเพราะจะมีการทุจริตที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่มาในวันนี้คือการป้องกันการทุจริต และหาบทเรียน ทั้งมุมที่ประสบความสำเร็จและมุมที่เป็นปัญหาเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริต

“ป.ป.ช.มีศูนย์ป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติมีการเปิดรับข้อมูลชี้ช่องแจ้งเบาะแส หากประชาชนเห็นพฤติกรรมที่คิดว่าน่าจะมีพิรุธ หรือมีเหตุสงสัยก็ขอให้แจ้งเข้ามาแล้วเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ จะหาข้อมูลในลักษณะของการเฝ้าระวัง ป้องปรามก่อนการกระทำความผิด” นายสาโรจน์ กล่าว และว่า การลงพื้นที่ดูแลสภาพปัญหาต่างๆ ซึ่งมีทั้งมุมบวกและมุมลบ กรณีที่เป็นมุมบวกก็จะนำไปเป็นโมเดลเผยแพร่ให้กับหน่วยงานอื่นๆ รับให้ดำเนินการต่อไป ถ้าเป็นมุมลบก็ถือโอกาสในการป้องปรามและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาคดีมีการตั้งเป้าดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีแต่สามารถขยายเพิ่มเติมได้อีก 1-3 ปี

นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.ภาค 9 กล่าวว่า ในพื้นที่ภาค 9 ประกอบด้วย 7 จังหวัดกับ 1 ภาค มีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ตำแหน่งพนักงานไต่สวนทั้งของภาคและจังหวัดรวม 41 คน มีการรับเรื่องออกเลขดำตรวจสอบเบื้องต้น 388 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จเข้าสู่ที่ประชุมจนได้เลขแดง 43 เรื่อง อยู่ในชั้นรอการพิจารณาอีก 25 เรื่อง ทั้งนี้ มีเรื่องไต่สวนเหลือในมือมี 345 เรื่อง เข้าที่ประชุม ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเสร็จ 34 เรื่อง รอการพิจารณา 52 เรื่อง เหลือค้างในชั้นพนักงานไต่สวนอีก 193 เรื่อง เฉลี่ยเจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลคดี 7-8 เรื่อง ต้องขอบอกว่า เรื่องที่เข้าสู่ชั้นไต่สวนนั้น 70% จะถูกชี้มูล

สำหรับเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 รองลงมาคือการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนเยอะที่สุด แต่ยังไม่ได้หมายความว่ากระทำความผิด คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นหน่วยงานที่มีจำนวนมาก 7,850 แห่ง เป็นหน่วยงานที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลจึงมีโอกาสถูกร้องเรียนเยอะเป็นเรื่องธรรมดา ขณะที่หน่วยงานราชการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดคือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 64 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหดหู่เพราะเกิดจากหลายเงื่อนไข อาจจะเกิดด้วยความไม่รู้ รองลงมาคือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง มากที่สุด กรมที่ดิน และ สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย (สปมท.) มีผู้ว่าฯและอดีตผู้ว่าฯที่ถูกกล่าวหาเข้ามาจำนวน 10 เรื่อง  ตามมาด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 40 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นการร้องเรียนกรมชลประทาน 27 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข ถูกร้องเรียน 20 เรื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกร้องเรียน 31 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นของกรมอุทยาน แห่งชาติฯ 20 เรื่อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 27 เรื่อง สถาบันอุดมศึกษา 20 เรื่อง และหน่วยงานทหารอีก 10 เรื่อง

สำหรับจังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุดในพื้นที่ภาค 9 ได้แก่ ตรัง 61 เรื่อง สงขลา 45 เรื่อง นราธิวาส 46 เรื่อง ปัตตานี 44 เรื่อง พัทลุง 40 เรื่อง และสตูล 22 เรื่อง สำหรับ จ.ตรัง ที่มีการร้องเรียนมากที่สุด อาจจะถือได้ว่าประชาชนในจังหวัดมีความตื่นตัว เวลาพบเห็นสิ่งผิดปกติจะร้องเรียน ซึ่งเรารับไว้ตรวจสอบเบื้องอยู่.