เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องเร่งดำเนินการจัดทำร่างรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 341,351.42 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ประมาณเดือน มิ.ย. 68 เริ่มก่อสร้างเดือน พ.ย. 68 และเปิดให้บริการปี 2574 อย่างไรก็ตามได้กำชับให้ รฟท. พิจารณาเรื่องการแบ่งสัญญางานโยธา ซึ่งควรต้องน้อยลงกว่าโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่มี 14 สัญญา เพราะการแบ่งสัญญางานที่มากเกินไป อาจทำให้งานแล้วเสร็จล่าช้าเหมือนกับเฟสที่ 1

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ รฟท. และผู้ที่เกี่ยวข้องนำประสบการณ์ และถอดบทเรียนจากการดำเนินงานรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 มาปรับใช้กับการดำเนินโครงการฯ เฟสที่ 2 เพื่อให้งานราบรื่น และแล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ พร้อมกันนี้ได้ให้ รฟท. เร่งรัดการก่อสร้างโครงการฯ เฟสที่ 1 โดยเฉพาะสัญญาที่ยังติดปัญหาต่างๆ ต้องเร่งเคลียร์ให้จบ ส่วนสัญญาใดที่ยังล่าช้าต้องให้ผู้รับจ้างหาแรงงานเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2571 เบื้องต้นคาดว่าสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง คาดว่าจะมีการเสนอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 1 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประมาณเดือน เม.ย.นี้ ส่วนสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว รอดูผลจากยูเนสโก แต่จะเร่งให้ลงนามกับผู้รับจ้างให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องการเดินรถจะเป็นรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเป็นการเดินรถตลอดทั้งเส้น ตั้งแต่กรุงเทพฯ-หนองคาย

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 วงเงิน 341,351 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานโยธา 237,454 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และชดเชยทรัพย์สิน 12,418 ล้านบาท (เวนคืนที่ดินประมาณ 1,345 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,428 รายการ) ค่าติดตั้งระบบราง ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟ 81,313 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา 6,530 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ และควบคุมงานติดตั้งงานระบบรถไฟ 2,821 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ 813 ล้านบาท ซึ่งการให้เอกชนมาร่วมลงทุน PPP ในงานเดินรถ และการดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา จะช่วยทำให้ประหยัดงบประมาณดำเนินโครงการฯ ได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 23% โดยเมื่อการก่อสร้างเฟสที่ 1 แล้วเสร็จ จะให้เดินรถเฟสที่ 1 เลย โดยไม่ต้องรอเฟสที่ 2