เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัดสถานศึกษา สพฐ. ระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ.ที่ผ่านมาพบว่า ภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยอดผู้สมัครสอบชั้น ม.3 จำนวน 424,506 คน คิดเป็นร้อยละ 81.51 และชั้น ป.6 จำนวน 476,640 คน คิดเป็นร้อยละ 91.37 ซึ่งจะมีการนำผลสอบไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนได้ออกหนังสือซักซ้อมแนวปฏิบัติแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาทุกแห่งได้รับทราบ เรื่องการตัดเกรดนักเรียนในประเด็นการให้ ศูนย์ ร และมส. โดยถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายเรียนดีมีความสุข ดังนั้นการตัดเกรดของโรงเรียนจะต้องไม่สร้างภาระให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง และขอให้โรงเรียนถือปฏิบัติเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดด้วย ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือประเด็นการติดตามเด็กหลุดระบบการศึกษา ซึ่ง สพฐ.ได้ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยกำชับทุกเขตพื้น 245 เขตจะต้องเร่งติดตามค้นหาเด็กหลุดระบบการศึกษาอย่างเข้มข้น เพราะขณะนี้มี 138 ที่ติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 100% แล้ว ดังนั้นในวันที่ 14 ก.พ.นี้ทุกเขตพื้นที่เหลือจะต้องเร่งตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ครบ ทั้งนี้ตนได้ย้ำถึงนโยบายการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพ หรือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้สพฐ.ได้คิกออฟความร่วมมือโรงเรียนคุณภาพที่ จ.บุรีรัมย์ ไปแล้ว ดังนั้นขอให้ทุกเขตพื้นที่นำความร่วมมือการสร้างโรงเรียนคุณภาพไปขยายผลให้ครบทุกจังหวัดด้วย

“ส่วนนโยบายการเปิดและปิดภาคเรียนใหม่นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีมติให้เลื่อนการปิดภาคเรียนจาก 11 ตุลาคมของทุกปีมาเป็นวันที่ 30 กันยายน ส่วนการเปิดภาคเรียนยังยึดวันที่ 16 พฤษภาคมเหมือนเดิม  ซึ่งการร่นการปิดภาคเรียนใหม่จะทำให้เด็กมีเวลาหยุดเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการบริหารงบประมาณและอัตรากำลังครูเกษียณ การย้ายครูและปีงบประมาณด้วย ซึ่งผมจะนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอ รมว.ศธ.พิจารณาอีกครั้ง” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว