ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งวัดพระมหาธาตุฯ มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์ของมรดกโลกที่เลือกนำเสนอ จำนวน 2 ข้อ ประกอบด้วยเกณฑ์ข้อที่ 2 วัดพระมหาธาตุแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางศาสนา ความต่อเนื่องทางจิตวิญญาณ และองค์ประกอบสำคัญที่สะท้อนถึงอิทธิพลทางศาสนาและรูปแบบศิลปะจากศาสนาฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาท ที่ได้รับถ่ายทอดทั่วทั้งตอนใต้ของเอเชียภาคพื้นสมุทรมาเป็นเวลาประมาณ 1,500 ปี วัดพระมหาธาตุมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลายและทรงคุณค่าซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งที่สำคัญในภูมิภาคนี้ เช่น ศิลปะปาละจากนาลันทา ศิลปะชวาภาคกลาง ศิลปะศรีลังกา และศิลปะมอญจากเมียนมาตอนใต้ จึงเป็นตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนทางศาสนาและสถาปัตยกรรมในมวลมนุษย์อย่างชัดเจน โดยรูปแบบสถาปัตยกรรม การปฏิบัติทางพุทธศาสนา และประเพณีที่ยังคงดำรงอยู่ของอารามแห่งนี้ ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ อีกด้วย  รวมทั้งเกณฑ์ข้อที่ 6 วัดพระมหาธาตุเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของเมืองที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางของประเพณีที่ยังดำรงอยู่ด้วยระบบความเชื่อที่หลากหลาย

ซึ่งได้ผสมผสานระหว่างความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิม ความเชื่อในศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาในกาลต่อมา ดังเห็นได้จากการบูชา การทำบุญ และประเพณีประจำปี ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีที่ยังสืบทอดอยู่ในอารามแห่งนี้ เช่น พิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ การแสดงโนรา การบูชาบรรพบุรุษ พิธีพราหมณ์ งานศิลปะเฉพาะถิ่น และประเพณีท้องถิ่น ต่างสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้กับชุมชนรายรอบอย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นแนวทางให้กับวัดวาอารามและชุมชนอื่น ๆ บนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยและภูมิภาคอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตามอีกด้วย  ซึ่งถือเป็น ”แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่”  “นครศรีธรรมราช” เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่เมืองหนึ่งของไทย ในอดีตเมืองนครศรีธรรมราชมีเมืองบริวารมากถึง 12 เมือง จึงมีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมือง 12 นักษัตร” และยังเป็นเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาโดยมีพระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยเฉพาะพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย” เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาอย่างยาวนานนับพันปี จนมีการเรียกนครศรีธรรมราชอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองพระ” มาจนถึงปัจจุบันนี้  ซึ่งเกณฑ์ข้อที่ 6 มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น ประเพณี มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ, วิสาขบูชา, บุญสารทเดือนสิบ, ชักพระออกพรรษา, บุญให้ทานไฟ, ยกขันหมากปฐม เป็นต้น  

โดยเฉพาะประเพณี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ” เป็นประเพณีที่เก่าแก่ที่สุด โดยตามคติความเชื่อมาแต่ครั้งโบราณที่ว่า “หากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริงๆ จะต้องปฏิบัติหน้าพระพักตร์หรือใกล้ชิดพระพุทธองค์ให้มากที่สุด แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว การได้ทำบุญกราบไหว้พระพุทธรูป พระเจดีย์ ยิ่งถ้าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าก็เสมือนว่าได้ทำบุญหรือกราบไหว้บูชาอย่างใกล้ชิดกับพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน” ประเพณี “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนเป็นประเพณีที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช และมีเพียงแห่งเดียวในโลกก็ว่าได้แต่เดิมจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวัน “มาฆบูชา” และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวัน “วิสาขบูชา” แต่ในระยะหลัง ๆ ชาวพุทธจะนิยมมาร่วมแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชามากกว่าในวันวิสาขบูชา เพราะอยู่ในช่วงหน้าแล้งทำให้สะดวกในการเดินทางมาร่วมกิจกรรมและพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ จังหวัดฯ จึงเน้นการจัดงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาเป็นหลัก เรียกว่าประเพณี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ” มาจนถึงปัจจุบัน ตามตำนานระบุว่าในราว พ.ศ. 1773

ในขณะที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช และชาวเมืองนครศรีธรรมราชกำลังจัดเตรียมงานสมโภชองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ปรากฏว่ามีชาวเมืองอินทปัตย์ในเขมร ประมาณ 100 คน เดินทางด้วยเรือสำเภาเพื่อนำผ้าพระบฏ ซึ่งเป็นผ้าที่มีลายเขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติมุ่งหน้าไปบูชาพระพุทธเจ้าที่เมืองลังกา แต่เรือสำเภาถูกลมพายุจนอับปางกลางทะเล ผ้าพระบฏและชาวอินทปัตย์รอดชีวิตประมาณ 10 คน ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่ชายหาดในอำเภอปากพนัง ชาวบ้านในอำเภอปากพนัง จึงนำผ้าพระบฏมาถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช จนมีมติร่วมกันว่าในการสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ในวันเพ็ญเดือน 3 หรือ “วันมาฆบูชา” จะมีแห่นำเอาผ้าพระบฏดังกล่าวไปถวายโอบห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า หรือ “ถวายเป็นพุทธบูชา” โดยชาวอินทปัตย์ก็เห็นดีเห็นงามด้วย ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงเกิดขึ้นและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน               

นายนายสมชาย ลีหล้าน้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ประเพณี “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุที่เมืองนคร” นับเป็นกิจกรรมที่ณรงค์ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันมาฆบูชา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรมอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมของชาวพุทธที่ปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน  ในปีนี้เป็นปีที่ 795 โดยกำหนดจัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 6-12 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อรณรงค์ให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาและเพื่อจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรมอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม และสนองยุทธศาสตร์จังหวัดในประเด็นพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นฐานธรรมะ, ธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมโดยใช้มิติทางศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน และเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษชาวนครศรีธรรมราชที่สืบทอดมาช้านานให้คงอยู่สืบไป  สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน และผ้าพระบฏประทาน จำนวน 8 ผืน ตลอดจนผ้าพระบฏของอำเภอ ส่วนราชการ หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จากสนามหน้าเมือง ไปยังลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร, กิจกรรมทำบุญตักบาตร, การกวนข้าวมธุปายาส (ยาคู), กิจกรรมรณรงค์แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี 2568 กิจกรรมสวดด้าน กิจกรรมสวดมนต์ฟังธรรม เจริญจิตตภาวนาถวายเป็นพุทธบูชา และพิธีเวียนเทียนวันมาฆบูชา เป็นต้น  ส่วนไฮไลต์ของงานจะอยู่ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568  ภาคเช้าเวลา 06.30 น. กิจกรรมทำบุญตักบาตร ณ บริเวณถนนราชดำเนิน ด้านหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เวลา 14.00-17.00 น. พิธีอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทานรวมทั้งผ้าพระบฏจากอำเภอ และหน่วยงานต่าง ๆ จากศาลาประดู่หก ไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และประกอบพิธีถวายผ้าพระบฏแด่องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ในเวลา 16.30 น. ณ บริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จากนั้นในเวลา 18.00 น. เป็นต้นไปจะมีพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์               

ในช่วงการจัดงานประเพณี “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ” ถือว่าเป็นประเพณีในทางพุทธศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมายาวนาน “หนึ่งเดียวในโลก” ในช่วงดังกล่าวจะมีชาวพุทธจากทั่วทุกสารทิศทั้งในและต่างประเทศนับแสนคนแห่เดินทางมาร่วมกิจกรรมและร่วมพิธีเวียนเทียนวันมาฆบูชา รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่มีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดนครศรีธรรมราชมากที่สุดในรอบปี ทั้งนี้เนื่องจากทุกคนมีความรู้สึกว่า “เกิดมา 1 ชาติได้กราบพระธาตุเมืองนคร 1 ครั้ง ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเป็นที่สุดแล้ว”