นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 ก.พ. 68 กระทรวงคมนาคม จะเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 341,351.42 ล้านบาท เบื้องต้นหาก ครม. เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้าง และเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือน พ.ย. 68 และเปิดให้บริการในปี 2574

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วยนครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย ทั้งนี้ในส่วนของเรื่องการเดินรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ได้มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเป็นการเดินรถตลอดทั้งเส้น ตั้งแต่กรุงเทพฯ-หนองคาย จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6-8 เดือน จากนั้นจะเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาการดำเนินงานในรูปแบบ PPP ต่อไป

รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งว่า โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 มีระยะทาง 357.12 กม. แบ่งเป็น ทางวิ่งยกระดับ 202.48 กม. และเป็นทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีย่านกองเก็บตู้สินค้า และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ได้แก่ ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา จ.หนองคาย รวมทั้งมีศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย การออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กม. ต่อชั่วโมง (ชม.) ความเร็วเฉลี่ยในการให้บริการ 192 กม.ต่อชม. ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา ประมาณ 1 ชม. 26 นาที และจากนครราชสีมา-หนองคาย ประมาณ 1 ชม. 45 นาที และหากนั่งจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 3 ชม. 28 นาที

อย่างไรก็ตาม สำหรับปริมาณผู้โดยสาร ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย คาดการณ์ว่าปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2574 มีปริมาณผู้โดยสาร 6,710 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2578 จำนวน 10,060 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2583 จำนวน 13,420 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2593 จำนวน 16,490 คน-เที่ยวต่อวัน และปี 2603 จำนวน 17,930 คน-เที่ยวต่อวัน ส่วนช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2574 ผู้โดยสารอยู่ที่ 9,030 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2578 จำนวน 13,550 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2583 จำนวน 18,070 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2593 จำนวน 22,250 คน-เที่ยวต่อวัน และปี 2603 จำนวน 24,110 คน-เที่ยวต่อวัน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หากโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคายได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ทาง รฟท.จะเร่งจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) และเปิดประมูลจัดหาเอกชนก่อสร้างงานโยธาทันทีภายในปี 2568 คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างในปี 2568 และเริ่มงานก่อสร้างปลายปี 2568 อย่างไรก็ตามปัจจุบัน รฟท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำ TOR เพื่อศึกษารูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) ในการบริหารโครงการและเดินรถไฮสปีดไทย-จีน ตลอดแนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ–หนองคายด้วย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือนแล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบ PPP ต่อ ครม.พิจารณา ก่อนเปิด PPP จัดหาเอกชนร่วมลงทุนต่อไป

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่โครงการรถไฟไฮสปีดไทย–จีนแล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของงานโยธาการก่อสร้างต่างๆ จะเปิดประมูล และเดินหน้าตอกเสาเข็ม ส่วนเรื่องเดินรถจะเห็นภาพชัดเจนของการเปิดให้เอกชนร่วม PPP เดินรถตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งการเร่งดำเนินการเหล่านี้ เพื่อให้ทันต่อการเปิดให้บริการรถไฟไฮสปีดไทย–จีนเฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่จะเปิดให้บริการในปี 2571.