หลายๆคนคงเคยเห็นลักษณะเส้นเลือดขอดหรือโป่งตามจุดต่างๆบนขา ซึ่งเรียกว่า “ภาวะเส้นเลือดขอด” แม้อาการนี้จะไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ส่งผลกระทบความสวยงามของเรียวขาและสุขภาพของเรา
มีสาระความรู้ดีๆจาก “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” เกี่ยวกับการป้องกันและดูแลรักษาอาการดังกล่าว สำหรับเส้นเลือดขอดที่ขา (Varicose vein) คือการขอดตัวของหลอดเลือดดำที่ขาส่วนที่อยู่ตื้นใต้ผิวหนัง มักเริ่มเป็นที่บริเวณน่องโดยไม่มีอาการใดๆ เส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมากๆ ประมาณ 0-5 มิลลิเมตร จะมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม มักมีสีแดง สีเขียว หรือสีม่วง ส่วนเส้นเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 มิลลิเมตร มักมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวใต้ผิวหนัง จัดเป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้น
สาเหตุเส้นเลือดขอดที่ขา เกิดจากอะไร
อาจมาจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้น (Valve) ที่มีในหลอดเลือดดำของขา ทำให้การไหลเวียนของเลือดดำเสียไป เกิดการคั่งของเลือดดำในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดดำยืด ขยายตัว ตัวโป่งพอง และขดไปมา
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา
1.อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้นจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้นในหลอดเลือดดำ
2.เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าเพศชาย
3.หญิงตั้งครรภ์
4.น้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักมาก จะยิ่งมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดที่ขา
5.พันธุกรรม พบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
6.อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนนานๆ หรือนั่งนานๆ ทั้งวัน
7.ขาดการออกกำลังกาย จะส่งผลให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งกล้ามเนื้อขาถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงหลอดเลือดดำขา ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดของขา

อาการของเส้นเลือดขอดที่ขา
เส้นเลือดขอดที่ขามักเริ่มปรากฏที่น่องเป็นบริเวณแรก เห็นได้จากเส้นเลือดโป่งพองนูนออกและขดไปมา บางรายอาจรู้สึกเมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ขาและเท้าบวม หรือเป็นตะคริวในตอนกลางคืน
เส้นเลือดขอดที่ขาที่เป็นอยู่นานอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา ส่วนมากจะเป็นการอักเสบของตัวเส้นเลือดขอดเอง นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดขาอุดตันได้
การป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา
1.หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
2.หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า หรือถุงน่องที่รัดมากๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
3.ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
4.ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
5.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
วิธีรักษาเส้นเลือดขอด
1.การรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมาก หรือเป็นเส้นเลือดฝอยที่ขาขนาดเล็กๆ ทำได้โดยการใส่ถุงน่องทางการแพทย์สำหรับเส้นเลือดขอด (Compression stocking) หรือการพันผ้ายืดซึ่งมีหลายขนาดและความยาว ตลอดเวลาทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ยกเว้นในขณะที่นอน และให้ยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเวลานอน
2.การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อให้เส้นเลือดตีบตัน สามารถรักษาได้ทั้งเส้นเลือดขอดและเส้นเลือดฝอยที่ขา โดยจะเป็นการฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือดดำที่ขอด ซึ่งยาที่ใช้บ่อย อาทิ Polidocanol ความเข้มข้น 1-3 เปอร์เซ็นต์

3.การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก เป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยเส้นเลือดขอด โดยทำการผ่าตัดเอาเส้นเลือดที่ขอดออกไปเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก เหมาะสำหรับการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่และมีขนาดยาวมากๆ และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดได้
4.การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์ เป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ทำให้เกิดบาดแผลและไม่มีแผลเป็น สามารถรักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร และผู้ป่วยที่กลัวการฉีดยาหรือการผ่าตัด
5.การรักษาเส้นเลือดขอดโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่ใช้หลักการเดียวกับการรักษาด้วยเลเซอร์และไม่ต้องทำการผ่าตัดเปิดแผล แพทย์จะใช้วิธีเจาะผ่านรูเข็มขนาดเล็ก แล้วใส่ขดลวดเข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา
6.การรับประทานยาบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด การรับประทานยาในกลุ่ม Diosmin และ Hesperidin ซึ่งสามารถลดกระบวนการอักเสบ จะทำให้การอักเสบของหลอดเลือดดำลดลง และทำให้ลิ้นในหลอดเลือดดำกลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะในเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กๆ
7.การใช้สมุนไพรในการรักษา สมุนไพรที่ใช้ เช่น Horse chestnut, Cayenne pepper, Bilberry, แปะก๊วย และใบบัวบก โดยสมุนไพรที่มีสารกลุ่ม Triterpenes จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น สารกลุ่ม Flavonoids จะช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น
การรักษาเส้นเลือดขอดในแต่ละวิธี มีความเหมาะสมแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและปัจจัยต่างๆ ที่ผู้ป่วยมี หากท่านพบปัญหาหรือมีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้น ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป